ฝ่าด่านไพรมารีโหวต

ฝ่าด่านไพรมารีโหวต

“ไพรมารีโหวต” หรือ การเลือกตั้งขั้นต้นในระดับจังหวัดเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. กำลังจะถูกนำมาใช้ในระบบการเลือกตั้งระดับชาติครั้งแรกในปีหน้า 2562

ถึงแม้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้มีไพรมารีโหวต ด้วยเหตุผลในการ “ปฏิรูปการเมือง” เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง

แต่นักการเมืองหลายพรรคกลับเสนอให้ “เว้นวรรคเอาไว้ก่อนในการเลือกตั้งเที่ยวนี้ เนื่องจากเผชิญปัญหาเงื่อนเวลาที่อาจไม่ทัน โดยเฉพาะ คสช.ยังไม่ปลดล็อกให้ทำกิจกรรมใดๆ ส่งผลถึงจำนวนสมาชิกของแต่ละพรรคที่ยืนยันสถานภาพกันแทบไม่ถึงครึ่ง จึงคาดว่าไม่น่าจะเตรียมการได้ทัน

งานนี้ก็อยู่ที่ คสช.จะว่าอย่างไร เพราะรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานการประชุมร่วมกับพรรคการเมือง แค่รับเรื่องไปพิจารณาในวง คสช.นัดถัดไป

แต่ถ้าฟังสุ้มเสียงจาก ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธุ์ ดูเหมือนข้อเสนอนี้ของนักเลือกตั้งจะไม่มีสัญญาณตอบรับ

แถมเรื่องนี้ อ.มีชัย มีเคลียร์กับ คสช.และรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว โดยยืนยันว่า “อุตสาห์คิด จึงอยากให้ทดลอง”

กูรูรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า แนวทางที่ระบุไว้ทั้ง 3 แบบ มีทั้งข้อดีและข้อด้อย ถ้าจะใช้วิธียกเลิกไพรมารีโหวต โดยใช้วิธีเว้นการบังคับใช้ในการเลือกตั้งรอบแรก แล้วให้นำไปใช้ในการเลือกตั้งรอบหน้า ข้อเสียคือไม่ได้ทดลอง

อาจารย์มีชัย ชี้ว่า “หากปรับให้ไพรมารีโหวตเป็นระบบภาคแทนระบบจังหวัด ผมมองว่าเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะกรณีใช้ 4 ภาคดำเนินการและผลครอบคลุมถึง 76 จังหวัด อาจถูกมองว่าใช้กลุ่มคนเดียวมาตัดสิน

เรื่องนี้คงไม่สามารถไปยื่นตีความที่ศาลไหนได้ อ.มีชัย เลยเสนอทางออกเพื่อหาวิธีเหมาะสม คือเสนอให้ถามความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แล้วค่อยมาพิจารณาว่าแนวทางใดจะเกิดประโยชน์กับบ้านเมืองมากที่สุด

ต้องไม่ลืมว่า ประเด็นใดๆ ที่หัวขบวนทีมร่างรัฐธรรมนูญอย่าง อ.มีชัย ทักท้วงประเด็นใด ขึ้นมาเมื่อไหร่ คสช.ก็ตอบรับทุกที

กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.กว่าจะผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญออกมาได้ คสช.ยัน สนช.ยังต้องซ้ายหันขวาหันยื่นตีความตามข้อทักท้วงของ อ.มีชัยกันมาแล้ว

งานนี้ นักเลือกตั้งคงเจอศึกหนัก ตั้งแต่ฝ่าด่านแรก ไพรมารีโหวตรอดมาให้ได้ก่อน!

 โดย... นิภาวรรณ