ความรับผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมือง

ความรับผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมือง

คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องมี แน่นอนว่า

เมื่อเป็นตำแหน่งที่สำคัญหากเกิดการผิดพลาดหรือมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น กรรมการบริหารพรรคฯก็ย่อมจะต้องมีความรับผิดที่สำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งผมจะนำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการบริหารพรรคฯที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้กำหนดข้อห้ามและบทลงโทษไว้ มาเสนอในส่วนที่สำคัญๆ ดังนี้

  1. ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง 20 ปี หากเพิกเฉยเมื่อรู้ว่าสมาชิกพรรคฯกระทำผิดในการเลือกตั้งส.ส.หรือการเลือกส.ว.

เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าคณะกรรมบริหารไม่มีมติหรือสั่งการให้สมาชิกฯยุติการกระทำอันอาจมีลักษณะที่อาจทําให้การเลือกตั้ง(ส.ส.)หรือการเลือก(ส.ว.)มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นส.ว. ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอเรื่องต่อ กกต.เพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คกก.พรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ คำสั่งดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคฯงซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังกล่าวดำรงตำแหน่งใดในพรรคฯจนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง(มาตรา 22 วรรคสี่)

และหากกรรมการบริหารฯที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวกระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของพรรคฯนั้น เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และหากไปมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือตำแหน่งอื่นหรือการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองจะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา 22วรรคหกและมาตรา 105)

2.สรรหาผู้สมัคร ส.ส.,ส.ว.ไม่เป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

หากหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารฯไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 50 (ว่าด้วยวิธีการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง)และมาตรา 51(ว่าด้วยวิธีการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ)จะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาทและถูกศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี(มาตรา 52 และมาตรา 117)

3.ยักยอกเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค

หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารฯ กรรมการสาขาฯ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคฯ ต้องแจ้งให้พรรคการเมืองทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ และให้พรรคการเมืองออกใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เป็นหนังสือให้แก่ผู้บริจาคเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามแบบที่ กกต.กำหนด กิจกรรมที่ว่านี้หมายความรวมถึงการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคฯ สาขาพรรคฯ ตัวแทนพรรคฯประจำจังหวัด สมาชิก หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้(พูดง่ายๆว่าอุ๊บอิ๊บเอาไปเป็นของตนเองว่างั้นเถอะ)ต้องถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง(มาตรา 67 และมาตรา 122)

4.ให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ ส.ส.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด

ในกรณีที่พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคฯหรือบุคคลใดให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะให้เป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว ถ้าการให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 (ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ(สนช.) สมาชิกสภาจังหวัด(ส.จ.)หรือสมาชิกสภาเทศบาล(ส.ท.) เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่)หรือมาตรา 149 (ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สนช. ส.จ. หรือส.ท. เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่) ให้พรรคการเมืองหรือบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและ ถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น(เข้าใจง่ายๆว่าห้ามแอบให้เงิน(เป็นเดือน/เป็นก้อน)หรือทรัพย์สินแก่ ส.ส.นั่นเอง)(มาตรา 88 วรรคหนึ่งและมาตรา 134)

5.นำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคฯไปใช้นอกจากที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย

ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารฯ ที่จะต้องตรวจสอบและควบคุมมิให้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคฯไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 84(เงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนพัฒนาการเมือง) มาตรา 87(ค่าใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคฯ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคฯและสมาชิกและค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคฯ)พรรคการเมืองต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดําเนินกิจกรรม)และมาตรา 88 (ตามข้อ 4)ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา 89 และ มาตรา 136)

6.ถูกยุบพรรคแล้วยังไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคฯใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคฯขึ้นใหม่อีก

ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคฯหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา 94 วรรคสองและมาตรา 105)

เอาเฉพาะที่สำคัญๆเท่านี้ก่อนนะครับ แค่นี้กรรมการบริหารพรรคฯและว่าที่กรรมการบริหารพรรคฯคงหนาวๆร้อนๆไปตามๆกันนะครับ นี่ยังไม่รวมที่จะต้องอยู่ชำระชำระบัญชีหรือผู้ที่รู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการบริหารและตำแหน่งแต่ยังยินยอมรับการแต่งตั้งฯอีกด้วยน่ะครับ

ตำแหน่งก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดครับ