จะมาขายอะไรกันตอนนี้

จะมาขายอะไรกันตอนนี้

“เมื่อตอนตลาดหุ้นอยู่ 1700 จุดยังซื้อกันอยู่เลย จะมาขายอะไรตอนนี้?”

นับเป็นคำถามที่น่าสนใจที่ผมบังเอิญไปได้ยินในวงสนทนาเกี่ยวกับเรื่องหุ้นของเพื่อนๆ นักลงทุนกลุ่มหนึ่ง ภายใต้บรรยากาศที่ค่อนข้างเงียบเหงาปนเซ็งหลังหุ้นร่วงจาก SET Index ที่ราวๆ 1800 จุดลงมาเหลือ 1600-1650 จุดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งหลังจากถกเถียงกันอยู่พักใหญ่สุดท้ายบทสนทนาก็มาสิ้นสุดอยู่ตรงที่ว่าเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นร่วงลงมาขนาดนี้คืออะไร พื้นฐานเปลี่ยนไปหรือไม่ มองไปข้างหน้าจะลงไปลึกกว่านี้หรือเปล่า (1600จุด จะเอาอยู่หรือไม่) เพื่อตอบคำถามเหล่านี้คงต้องเริ่มจาก...

อะไรทำให้ตลาดหุ้นร่วงลงมาราวๆ 200 จุดจากพีค? ผมขอตอบว่าหลักๆ มาจากเรื่องความรู้สึกฮึกเหิมหรือหดหู่ (Sentiment) มากกว่าจะเป็นเรื่องของผลประกอบการหรือกำไรของบริษัท

เพราะหากแบ่งตัวแปลที่มีผลต่อราคาหุ้นออกเป็นสองส่วนได้แก่ ผลกำไรบริษัท (Earnings) และ อัตราส่วน P/E ratio ซึ่งจะคำนวณราคาหุ้นได้จาก Price = Earnings X PE ratio แปลเป็นภาษาคนได้ว่ามูลค่าหุ้นในตลาดขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนว่า Earnings ควรจะอยู่ที่เท่าไร และนักลงทุนมีความฮึกเหิมมากน้อยแค่ไหน ที่จะซื้อหุ้นในราคาสูงเป็นกี่เท่าของ Earnings ดังกล่าว ยิ่งมีความฮึกเหิมมาก PE ratio ก็ยิ่งสูง (นักลงทุนกล้าเคาะขวาซื้อหุ้นไล่ราคาขึ้นไป)

หากแยกวิเคราะห์เป็นส่วนๆ พบว่า Earnings เป็นเรื่องของปัจจัยพื้นฐาน ว่าบริษัทที่เราสนใจนั้นมีการทำธุรกิจที่ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร รายได้ยังเติบโตดีหรือไม่ หักด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วยังเหลือกำไรสุทธิเท่าไร ซึ่งสำหรับตลาดหุ้นโดยรวม (SET Index) ก็มีดัชนีกำไรต่อหุ้นหรือ Earnings per share Index อยู่ที่ราวๆ 100จุด (ผลประกอบการจริงในปี 2560) และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 110จุดในปีนี้ (2561) และ 120 จุดในปีหน้า (2562)

ดัชนีกำไรต่อหุ้นทั้ง 3 ตัวดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ออกมาค่อนข้างตรงกับที่นักวิเคราะห์คาด (เลยไม่ค่อยมีการปรับตัวเลข) ประกอบกับ GDP ไตรมาส 1 ของสภาพัฒน์และตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของ ธปท. ที่ออกมาค่อนข้างแข็งแกร่ง มุมมองต่อปัจจัยพื้นฐานต่างๆ จึงไม่เปลี่ยนไปมากนัก

แล้วดัชนีราคาหุ้นร่วงลงมาได้อย่างไร? คำตอบคือการปรับตัวลงดังกล่าว อธิบายได้ด้วย PE ratio ที่ปรับตัวลง หรือก็คือการลดลงของความฮึกเหิมของนักลงทุน จากที่เคยเคาะขวาซื้อหุ้นที่ราคาสูงๆ ตอนนี้เริ่มกลายเป็นการตั้งซื้อแบบตั้งรับในราคาที่ต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อคนซื้อไม่เคาะขวา ขณะที่คนขายแย่งกับเคาะขายในราคาที่ต่ำลงๆ ราคาหุ้นก็ยืนอยู่ไม่ไหว

โดยสรุป ผมจึงมองว่าการปรับตัวลงของตลาดหุ้นเป็นเรื่องของปัจจัยจิตวิทยา หรือความกังวลมากกว่าเรื่องปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวกับกำไรของบริษัท โดยมีสองประเด็นหลักที่หลายคนพูดถึงกันในช่วงนี้คือ 1. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว 2.เม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่องในช่วง 6-9 เดือนที่ผ่านมา ส่วนอีกประเด็นเสริมอาจเป็นเรื่องการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย นำโดยสหรัฐฯ ที่จะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น

ผมยังเชื่อว่าเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนจะผ่านความผันผวนเชิงนโยบายไปได้ สหรัฐฯ และจีนยังมีผลประโยชน์ร่วมกันอีกหลายด้าน แม้สหรัฐฯ จะบ่นว่าขาดดุลการค้าสินค้ากับจีน แต่สหรัฐฯ ก็เกินดุลบริการจีนอยู่ (เช่นท่องเที่ยว คนจีนไปสหรัฐฯมากกว่าสหรัฐฯมาเที่ยวจีน) นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังเกินดุลในแง่ที่บริษัทเอกชนสหรัฐฯ เข้าไปทำธุรกิจในจีน มากกว่าที่จีนไปตั้งบริษัทขายของในสหรัฐฯ ในอีกด้าน แม้ว่าจีนจะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ แต่จะให้จีนเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ จีนก็คงไม่ทำเพราะจะทำให้เงินหยวนแข็งค่าแรงจนกระทบเศรษฐกิจจีนเองโดยเฉพาะผู้ส่งออกที่กำลังลำบากจากภาษีสหรัฐฯ อยู่แล้ว

โดยสรุป ปัจจัยพื้นฐานด้านผลประกอบการบริษัทของไทยไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก เพียงแต่มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสงครามการค้า บริษัทส่วนใหญ่ของไทยไม่ได้ผูกกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศ แต่ขึ้นกับเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปี งบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเส้นทางสู่การเลือกตั้งที่ชัดเจนขึ้น ส่วนตัวเลข GDP ล่าสุดก็ยังมีสัญญาณของการ restocking หรือกลับมาสะสมสินค้าคงคลัง ซึ่งมักจะเป็นสัญญาณของการเร่งตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป อย่างที่ผมกล่าวไว้ตอนต้นว่า 1700 กว่าจุดยังซื้อกันอยู่เลย จะมาขายอะไรกันที่ 1600 (ในเมื่อปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าไร) เพียงแต่การเข้าซื้ออาจต้องเป็นการทยอยเข้า เนื่องจากการปรับตัวลงด้วยปัจจัยจิตวิทยานั้นยากที่จะกะเกณฑ์ว่าจะเด้งเมื่อไหร่ รู้แต่เพียงว่า ณ ราคานี้ ไม่แพงแล้วเมื่อเทียบกับกำไรของบริษัท