แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2561 ยังเติบโตต่อเนื่อง

แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2561 ยังเติบโตต่อเนื่อง

ผ่านไปแล้วครึ่งปีสำหรับปี 2018 ในอีกไม่นาน ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็จะเริ่มทยอยประกาศออกมา

ส่วนผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จะเริ่มประกาศในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมานั้น กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศออกมารวมกันอยู่ที่ 2.89 แสนล้านบาท เติบโต 15.9% เทียบกับไตรมาส 4 และเติบโต 0.6% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2017 ส่วนผลกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 มีแนวโน้มที่จะเห็นตัวเลขเติบโตกว่าไตรมาสแรก และน่าจะเติบโตได้ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว ทำให้กำไรสุทธิรวมของปี 2018 ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 10-12% จากปี 2017

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ผลประกอบการในไตรมาส 2 น่าจะยังออกมาดีต่อเนื่อง ยังคงเป็นกลุ่มพาณิชย์ ที่นอกจากจะได้รับอานิสงค์จากการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ยังได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากเทศกาลฟุตบอลโลกที่จะจัดขึ้นในช่วง 14 มิ.ย. – 15 ก.ค. 2018 ผู้ประกอบการที่น่าจะได้ผลดีโดยตรง ได้แก่ กลุ่มธุรกิจขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มธุรกิจขายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น อีกทั้งกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะสื่อนอกบ้านก็ได้รับอานิสงค์ด้วยเช่นกัน จากการจัดเคมเปญและใช้จ่ายโฆษณาเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงนี้ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์น่าจะมีผลประกอบการที่ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาส 1 จากอานิสงค์ของค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงมาจากตอนต้นปี ส่วนกลุ่มธุรกิจยานยนต์ก็มีแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้น ตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่เติบโตได้ดี โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2018 มียอดจำหน่าย 401,264 คัน เพิ่มขึ้นถึง 18% จากปี 2017

อีกกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2 ฟื้นตัวคือกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีการคุมต้นทุนภายในได้ดีขึ้น รายจ่ายในการสนับสนุนค่าเครื่องและโฆษณามีแนวโน้มลดลง และอัตราค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายอยู่ในทิศทางขาขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีการใช้งานด้านข้อมูลมากขึ้น ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาส 2 มีแนวโน้มที่จะเติบโตเมื่อเทียบกับปีที่แล้วและไตรมาส 1 นอกจากนี้ แรงกดดันด้านต้นทุนการดำเนินงานลดลงไป หลังจากที่ไม่มีผู้ให้บริการโครงข่ายรายใดยื่นความจำนงเข้าประมูลคลื่น 1800MHz ในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายค่าคลื่นมากจนเกินไปนัก แต่สำหรับผู้ประกอบการบางรายอาจมีความเสี่ยงที่จะมีคลื่นให้บริการลูกค้าไม่เพียงพอ หากไม่สามารถโอนย้ายลูกค้าไปอยู่บนคลื่นอื่นได้ทันเวลา

สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้น ปัจจัยบวกที่จะส่งผลเป็นวงกว้าง คือคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) อาจมีแนวโน้มที่จะมีการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS9) ออกไปจากเดิม จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2019 จะเลื่อนออกไป 1-2 ปี ซึ่งหากมีการเลื่อนจริง จะคลายแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มการเงิน เนื่องจากมาตรฐานฉบับใหม่นี้ จะส่งผลให้ผู้ปล่อยสินเชื่อจำเป็นต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมากขึ้นจากมาตรฐานเดิม เนื่องจากต้องตั้งสำรองตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยกู้ จากเดิมที่ทยอยตั้งสำรองเมื่อลูกค้ามีการผิดนัดชำระ เป็นต้น นักวิเคราะห์อาจมีการปรับประมาณการณ์การตั้งสำรองหนี้สูญของกลุ่มธนาคารใหม่ ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตของกำไรของปีนี้และปีถัดๆไปดีขึ้น เนื่องจากสามารถทยอยตั้งสำรองได้ จากเดิมที่อาจต้องถูกตั้งเป็นจำนวนมากในปี 2018 และปี 2019

นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน นอกกำกับธนาคารแห่งประเทศไทย (Non-Bank) ที่จะมาควบคุมการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อแฟคตอริ่ง เป็นต้น ก็มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผ่านสภานิติบัญญัติได้ทันในปีนี้ และต้องเสนอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มการเงินเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการมีเวลามากขึ้นในการปรับโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

แต่ในระยะสั้น ผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารจะยังถูกกดดันจากการประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมธนาคารทางอินเตอร์เน็ตของธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น ซึ่งประกาศเริ่มมีผลในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2018 ดังนั้น ผลกระทบต่อกำไรของธนาคารจะเห็นชัดเต็มที่เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผลประกอบการรวมในไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารจะหดตัว -8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2018 จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป แต่จะฟื้นตัว +5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2017 เนื่องจากค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2018 ที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% - 2.00% พร้อมกับส่งสัญญาณที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในตลาดเกิดใหม่กับตลาดสหรัฐแคบลง ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่เข้าสู่สหรัฐอเมริกา หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ข่าวสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ที่ตลาดกังวลว่าอาจนำไปสู่การเกิดสงครามการค้าในอนาคต ก็ยิ่งหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า เงินบาทจึงอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ถึงแม้ปัจจัยต่างๆภายในประเทศยังดูดี แต่ปัจจัยภายนอกที่เป็นลบเหล่านี้เอง จะยังเป็นตัวกดดันตลาดหุ้นในระยะสั้นนี้ ซึ่งหาก SET Index ปรับตัวลงต่ำกว่า 1700 จุด จะคิดเป็นระดับ P/E ของตลาดที่ 15.5 เท่าสำหรับปี 2018 และลดลงมาอยู่ที่ 14 เท่าและ 13 เท่าของกำไรตลาดปี 2019 และปี 2020 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นจุดที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนระยะยาว