ตราสารหนี้ CoCos

ตราสารหนี้ CoCos

วิกฤติการณ์การเงินโลกในช่วงปี 2550 – 2551 นอกจากจะส่งผลให้เกิดหายนะทางการเงินอย่างรุนแรงไปทั่วโลกแล้ว

ยังได้ก่อกำเนิดหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งขึ้น นั่นก็คือ Contingent Convertible Bonds หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า CoCos

ขนาดของเงินกองทุนของสถาบันการเงินที่ค่อยๆลดลง รวมถึงการด้อยค่าของคุณภาพเงินกองทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการล่มสลายของระบบการเงินในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปในปี 2551 ด้วยเหตุนี้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 จึงได้บรรลุข้อตกลงกรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนของสถาบันการเงิน ในปี 2553 ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤติสถาบันการเงินขึ้นอีกในอนาคต

เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจสำหรับบุคคลทั่วไป (ที่มิใช่ผู้บริหารสถาบันการเงิน หรือทำงานด้านตราสารหนี้) หากเราเป็นเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีทั้งเงินของเรา และเงินที่กู้คนอื่นมาในการดำเนินธุรกิจ แล้วอยู่มาวันหนึ่งบริษัทเกิดประสบปัญหาล้มละลาย สิ่งที่เราจะสูญเสียก่อนเป็นลำดับแรกคือเงินทุนที่เราลงทุนไปในบริษัทนี้ ในขณะเดียวกันเราในฐานะเจ้าของบริษัทก็ต้องพยายามเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินการทางกฎหมาย โดยทางเลือกหนึ่ง คือการขอแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งเจ้าหนี้ของเราก็จะกลายสภาพมาร่วมเป็นเจ้าของกับเราไปด้วย เจ้าหนี้ซึ่งเดิมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ย และเงินต้นคืนจากบริษัท ก็จะต้องมาร่วมชะตากรรมกับเราในฐานะเจ้าของบริษัท โดยจะมาเรียกร้องขอคืนหนี้จากบริษัทไม่ได้อีก และถ้าผลประกอบการในอนาคตของบริษัทไม่ดีก็จะได้ปันผลน้อย หรือไม่ได้เลยนั่นเอง (ในทางกลับกัน หากผลประกอบการดี ผู้ถือหุ้นก็มีโอกาสที่จะได้อัตราเงินปันผลสูงกว่า อัตราดอกเบี้ยที่เคยได้รับสมัยเป็นเจ้าหนี้เช่นกัน)

หากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน การจะมาเจรจากับเจ้าหนี้ก็จะไม่ทันการณ์ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการเงินโลก ก็คือ ทางการไม่กล้าปล่อยให้สถาบันการเงินล้ม เพราะเกรงว่าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจพังพินาศตามไปด้วย และเลือกที่จะเข้าช่วยเหลือด้วยการนำเงินภาษีของประชาชน (ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วย) มาเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเหล่านี้ ในขณะที่เจ้าหนี้เองกลับยังคงได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนตามปกติ

อธิบายมายืดยาว เพื่อจะให้เห็นภาพว่า ตราสารหนี้ CoCos เป็นตราสารหนี้ที่มีกลไกการแปลงหนี้เป็นทุนที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (หรือโดยคำสั่งของทางการ) โดยไม่ต้องเสียเวลาเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้

ผู้ถือ CoCos จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูง (มาก) กว่าอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ถือตราสารหนี้ทั่วไปจะได้รับ เพื่อแลกกับ 1) การที่จะต้องเป็นเจ้าหนี้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด หรือต้องรอจนกว่าลูกหนี้ จะขอคืนเงินกู้เอง ซึ่งก็จะต้องอยู่ภายหลังระยะเวลา 5-10 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร 2) โอกาสที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ หากสถาบันการเงินที่เป็นลูกหนี้มีผลประกอบการที่ย่ำแย่ โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และ 3) โอกาสที่จะถูกเปลี่ยนฐานะจากเจ้าหนี้เป็นผู้ถือหุ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อเข้าเงื่อนไขที่สถาบันการเงินนั้นๆกำหนดไว้ล่วงหน้า หรือโดยคำสั่งของทางการ

สำหรับอัตราดอกเบี้ยของ CoCos ที่ว่าสูงมากนั้น เคยสูงถึง 6 – 7% ต่อปี เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Debt) ของสถาบันการเงินแห่งเดียวกันที่ให้ดอกเบี้ยในอัตราไม่ถึง 1% ต่อปี โดยสถาบันการเงินที่ออก CoCos เป็นอันดับต้นๆของโลก ก็เป็นสถาบันการเงินชั้นนำ เช่น Barclays, BNP Paribas, HSBC, JPMorgan และ Wells Fargo เป็นต้น ซึ่งในต่างประเทศ CoCos มักเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนประเภทบุคคลที่มีเงินลงทุนสูง โดยตลาดของ CoCos ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเฉพาะในยุโรปปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสูงถึงประมาณ 180 พันล้านยูโร

อย่างไรก็ตาม การอธิบายถึง CoCos ข้างต้น เป็นเพียงเพื่อความเข้าใจเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจาก CoCos นั้นมีเงื่อนไขที่ซับซ้อน แตกต่างกัน และเกี่ยวพันกับการประเมินมูลค่าทั้งในรูปตราสารหนี้ และตราสารทุน รวมถึงเงื่อนไขในการร่วมรับความเสี่ยงในฐานะผู้ถือหุ้น ดังนั้น ผู้ที่สนใจลงทุน ควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุน