ว่าด้วยเรื่อง “ฟุตบอลโลก” และ “ความยั่งยืน”

ว่าด้วยเรื่อง “ฟุตบอลโลก” และ “ความยั่งยืน”

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้เชื่อว่าคงไม่มีอะไรที่ฮอตมากไปกว่ากระแสของการแข่งขันฟุตบอลโลก หรือ “ฟีฟ่า เวิลด์คัพ 2018”

ที่ประเทศรัสเซีย หลังจากที่แฟนบอลทั่วโลกตั้งตารอคอยกันมานานหลายปี และตอนนี้การแข่งขันก็งวดขึ้นมาทุกขณะ

แต่ไม่ว่าคุณจะรักทีมใดเชียร์ชาติใดก็ตาม ทราบไหมคะว่ากว่าจะมาเป็นมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอย่างที่เรารับชมกันตอนนี้ทราบไหมคะว่าเบื้องหลังที่สำคัญที่สุดคือการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างฟีฟ่า (FIFA) และคณะกรรมการท้องถิ่นของประเทศเจ้าภาพหรือ Local Organising Committeeที่ต้องประสานกันเพื่อสร้าง ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ ทั้งก่อนและหลังการแข่งขัน นั่นเองค่ะ

ทั้งนี้เพราะการจัดฟุตบอลโลกนั้นต้องมีการลงทุนในการสร้างสนามกีฬา รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ ระบบขนส่ง การจัดกิจกรรมต่างๆ การจัดการขยะ การจัดหาอาสาสมัคร การดูแลนักกีฬาจาก 32 ชาติ และแฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลก ฟุตบอลโลกจึงเป็นมหกรรมกีฬาที่ส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศเจ้าภาพอย่างมหาศาล ดังนั้นทั้งฟีฟ่าและคณะกรรมการท้องถิ่นจึงต้องร่วมกันหากลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนที่เหมาะสมที่สุดกับประเทศนั้นๆ

และการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการบริหารจัดการความยั่งยืนอย่างเป็นระบบมากที่สุดโดยฟีฟ่าและคณะกรรมการท้องถิ่นร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ความยั่งยืนใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั่วรัสเซีย ลองมาว่ากันทีละด้านนะคะ

1.ด้านการพัฒนาสังคมและมนุษย์เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนนับล้านคนทั่วโลก ฟีฟ่าจึงต้องการใช้ฟุตบอลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในสังคม ทั้งในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย ความเท่าเทียม และการพัฒนาสังคม อาทิ การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในสถานที่จัดการแข่งขัน (โดยเปิดวิดีโอของ “การ์เลส ปูโยล” อดีตกองหลังทีมชาติสเปน ที่ชักชวนให้เลิกสูบบุหรี่เพื่อสุขภาพก่อนชมการแข่งขัน) การเตรียมสนามแข่งขันให้สามารถรองรับผู้พิการโดยไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการ การดูแลกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้เข้าชมการแข่งขันได้อย่างปลอดภัย การเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงหรือซื้อตั๋วการแข่งขันได้ การจัดโปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลสำหรับเยาวชนในรัสเซียเพื่อแก้ปัญหาสังคมด้านต่างๆ การส่งเสริมการมีสุขภาพดี การใช้สนามการแข่งขันจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะฟุตบอล และการวางแผนใช้ประโยชน์จากสนามแข่งขันอย่างยั่งยืนภายหลังการแข่งขันสิ้นสุดลง เป็นต้น

2.ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือมลภาวะที่เกิดจากการจัดงานให้น้อยที่สุด และการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและมาตรฐานอาคารและสนามแข่งขันต่างๆ ที่สร้างอย่างได้มาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังต้องส่งผลดีและประโยชน์สังคมภายหลังการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญในด้านต่างๆ อาทิ การควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การบริการจัดการขยะและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และการควบคุมการขนส่งให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เป็นต้น

3.ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นโอกาสดีในการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นของประเทศเจ้าภาพ ด้วยการลงทุนต่างๆ ตลอดจนการสร้างงาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทั้งฟีฟ่าและคณะกรรมการท้องถิ่นจะร่วมมือกับหน่วยงานกลุ่มบุคคลต่างๆ จากภายนอกอย่างเท่าเทียม (เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการฮั้วในการรับงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของซัพพลายเออร์) รวมถึงการส่งเสริมให้เมืองที่จัดการแข่งขันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และมีการตกแต่งเมืองอย่างสวยงามเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และการส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายตามหลักจริยธรรมที่ดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเมืองหรือประเทศที่เป็นเจ้าภาพ เป็นต้น

หลังการแข่งขันฟุตบอลโลกปิดฉากลง ภาพที่เราเห็นกันคุ้นตาคือทีมที่คว้าแชมป์โลกชูถ้วยรางวัลหรือ เวิลด์คัพ โทรฟี่แต่ภารกิจเพื่อความยั่งยืนของฟีฟ่ายังไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น แผนการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนในทุกด้านที่กล่าวมาจะได้รับการตรวจสอบและติดตามอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการรายงานความคืบหน้าทุกปี โดยรายงานความยั่งยืนจากการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียในครั้งนี้จะเผยแพร่ทางเวบไซต์ของฟีฟ่า (fifa.com) ภายในสิ้นปีนี้ ใครที่สนใจก็ลองติดตามกันดูนะคะ

แต่ตอนนี้ใครจะขอตัวไปเชียร์บอลก่อนก็ไม่ว่ากันค่ะ