ให้ความสำคัญกับคน ก่อนไปสี่จุดศูนย์

ให้ความสำคัญกับคน ก่อนไปสี่จุดศูนย์

จะไปถึง 4.0 ได้ ไม่ใช่แค่ไปเอาเทคโนโลยีจากบ้านอื่นมาให้เราใช้ นำเข้าเทคโนโลยีมาใช้ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคน เทคโนโลยีนั้นก็เปล่าประโยชน์

การให้ความสำคัญกับคน ไม่ได้แปลว่าต้องคอยจัดฝึกอบรมเทคโนโลยีใหม่เรื่องนั้นเรื่องนี้ ในแทบทุกครั้ง ที่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีคนน้อยเกินไป น้อยเกินกว่าจะทำบทบาทใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาได้ ฝึกไปก็เท่านั้น การให้ความสำคัญกับคน จึงเริ่มต้นด้วยการให้ความสำคัญว่าเรามีคนพอกับการงานนั้น ๆ หรือไม่ ต้องดูให้แน่ใจก่อนว่า มีคนพอที่จะทำงานได้ครบถ้วนหรือไม่ ดูอัตรากำลังที่มีอยู่ ให้รู้ว่ามีคนที่พอเหมาะกับการงานที่เราต้องบริหารให้สำเร็จเสร็จสิ้นแน่ ๆ

ดูจำนวนคนว่าพอไหวแล้ว ต่อไปก็ต้องดูฝีมือว่ารับงานใหม่ยาก ๆ ได้แค่ไหน หลายที่มีคนเยอะ แต่ฝีมือน้อย ก็ต้องรู้ว่ารับมืองานยากสุด ๆได้แค่ไหน สิงค์โปร์ 100 คน มีคนเก่งระดับเกรดเอ 40 คน บ้านเรามีแค่ไม่ถึง 2 คน แม้เรามีคนรวมแล้วมากกว่า คือจำนวนคนทั้งหมดมากกว่า แต่เขากลับทำงานยาก ๆ ได้มากกว่าเรา เพราะงานยากที่ต้องการคนเกรดเอนั้น ถ้าบ้านเขามีคนสัก 1 ล้านคน เขาก็มีเกรดเออยู่ 4 แสน ถ้าเรามีคนมากกว่าเขาสัก 10 เท่า คือมี 15 ล้านคน แต่เราก็ยังมีคนเก่งเกรดเอน้อยกว่าเขา เรามีแค่ 2 แสน จำนวนคนที่มากกว่า ไม่ได้ทำให้แน่ใจว่าจะทำงานได้มากกว่าเสมอไป ขึ้นกับจำนวนคนที่มีฝีมือด้วย จะบริหารการงานใด ต้องดูความเก่ง ดูฝีมือของคนของเราด้วยว่าเก่งมาก เก่งน้อยแค่ไหน แต่ความเก่งนี้ต้องดูกันดี ๆ ไม่ง่ายเหมือนการดูจำนวนคนที่มีอยู่ คนเก่งดิจิทัล แต่ไม่เคยทำงานกับรถยนต์เลย พอรถยนต์ใช้ดิจิทัลมากขึ้น ก็เหมาเลยว่าคนเก่งดิจิทัล ต้องเก่งรถยนต์ไปด้วย แล้วไปเชิญมาช่วยฝึกอบรมให้พนักงานสร้างรถเก่งขึ้น คงพอเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความอ่อนด้อยในการแยกแยะขีดความสามารถของคนที่ทำหน้าที่บริหารได้เป็นอย่างดี

คนเก่งจะทำงานได้ดี ผู้บริหารต้องสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สนับสนุนให้คนทำงานได้อย่างเต็มที่ เต็มฝีมือ ถ้าที่ทำงานไปถึงได้ยากเย็น รถติดเช้ายันเย็น กว่าที่พนักงานคนเก่งจะหลุดจากรถติดมาถึงที่ทำงานได้ ก็ต้องนั่งอยู่ในรถเป็นชั่วโมง มาถึงก็หัวตื้อไปหมด ทำอะไรไม่ได้ สภาพที่ทำงานแบบนี้จึงไม่สนับสนุนให้คนทำงานได้เต็มที่ ในทางตรงข้าม ถ้าให้นั่งทำงานที่บ้าน ส่งการงาน หรือประสานงานผ่านอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูง พนักงานคนนั้นก็จะใช้ความเก่งได้เต็มที่ ผู้บริหารที่มือถึงจริง ๆจะให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้ทำงานกันได้เต็มที่ เต็มกำลัง เต็มสติปัญญา ซึ่งสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงานรวมไปถึงการจัดที่ทำงาน จัดเครื่องมือที่ปลอดภัยเพียงพอ และการทำให้ที่ทำงานไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาวะอีกด้วย มีใครจะเชื่อบ้างว่าที่ทำงานในสำนักงานที่อยู่ใกล้กองขยะ ช่วยสนับสนุนให้คนทำงานได้ดีขึ้น ผู้บริหารเก่งจริง หรือไม่จริง ให้ดูเรื่องการดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สนับสนุนให้คนใช้ฝีมือได้เต็มที่ โดยทั่วหน้ากัน

มีคนเก่ง ในจำนวนที่เพียงพอจะรับมืองานยากงานใหญ่นั้นได้แล้ว ยังต้องจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สนับสนุนให้ออกตัวกันได้เต็มที่ แต่ที่ทำงานสดวก ปลอดภัย และไปมาง่ายแล้วยังไม่พอ เพราะคนทำงานได้ดี เมื่อมีการตอบแทนที่สมเหตุสมผล เล่ากันว่าเมื่อเมืองจีนอยากยกระดับมหาวิทยาลัย ให้เข้าสู่ชั้นแนวหน้าระดับโลก ได้มีการตอบแทนอาจารย์เก่ง ๆที่สามารถสร้างผลงาน ที่สามารถตีพิมพ์ในวารสารวิจัยแนวหน้าของโลก ถึงขนาดว่าถ้าสร้างผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิจัยแนวหน้าของโลกได้ ให้รางวัลเป็นบ้านใหญ่ ๆหลังหนึ่งไปเลย ลองนึกกันดูว่าถ้าเตรียมให้นักบอลไปเตะบอลโลก มีสนามดีมาก ๆให้ใช้ฝึกซ้อม หาทีมเก่ง ๆมาเป็นคู่ซ้อม แต่ให้เบี้ยเลี้ยงเท่ากับไปแข่งกีฬาสี บอลโลกที่จะได้ไป คงไม่ใช่บอลโลกเหมือนที่แข่งกันอยู่ตอนนี้แน่ ๆ