สภาพบุคคลตามกฎหมายของปัญญาประดิษฐ์

สภาพบุคคลตามกฎหมายของปัญญาประดิษฐ์

ศาลฎีกาในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4200/2559 ได้วางแนววินิจฉัยตลอดจนให้เหตุผลถึงการมีสภาพบุคคลของบุคคลธรรมดา

สรุปได้ว่า สภาพบุคคลของบุคคลธรรมดานั้นย่อมต้องผูกติดกับการทำงานของอวัยวะสำคัญอย่างสมองและการมีศักยภาพในการคิด อย่างไรก็ดีเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการรับรองสิทธิให้กับบุคคลที่เรียกว่าบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic person) ซึ่งมีสถานะเป็นปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence) นามว่า Sophia โดยเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่ได้รับสัญชาติซาอุดีอาระเบีย การรับรองสิทธิดังกล่าวนำไปสู่ประเด็นปัญหาทางกฎหมายว่า แท้จริงแล้วเราควรรับรองให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นบุคคลตามกฎหมายหรือไม่ แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะมิใช่มนุษย์และไม่ควรมีสิ่งอื่นใดนอกจากมนุษย์ที่ควรจะมีสิทธิในความเป็นบุคคลแล้ว แต่หากพิจารณาเรื่องการรับรองสิทธิให้กับปัญญาประดิษฐ์ให้ถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่า เรื่องการรับรองให้บุคคลอื่นนอกจากมนุษย์มีสิทธิเฉกเช่นมนุษย์นี้มิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายเคยมีการรับรองให้สิ่งอื่นนอกจากมนุษย์มีสิทธิเหมือนอย่างมนุษย์แล้ว นั่นก็คือการรับรองความเป็น นิติบุคคล

โดยทั่วไปแล้วทฤษฎีที่ใช้ในการอภิปรายโต้แย้งถึงการรับรองสิทธิให้กับนิติบุคคลนั้นมีอยู่ 2 ทฤษฎี คือ 1) ทฤษฎีสมมติ โดยทฤษฎีนี้เห็นว่าการเป็นบุคคลของนิติบุคคลนั้นเกิดขึ้นจากการที่รัฐสมมติให้นิติบุคคลเป็นบุคคลขึ้นมาเท่านั้น อย่างไรก็ดีทฤษฎีนี้มิได้รับการยอมรับโดยทั่วไปมากนัก แต่ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับในการเกิดและมีขึ้นของนิติบุคคลคือ 2) ทฤษฎีความเป็นนิติบุคคลที่แท้จริง ทฤษฎีนี้เห็นว่านิติบุคคลเป็นบุคคลจริง ๆ มิใช่เป็นบุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้นมา โดยนิติบุคคลเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของบุคคลกลายเป็นนิติบุคคลและกฎหมายเพียงแต่รับรองสิทธิของบุคคลดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงสภาพบุคคลของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาแล้วจะเห็นได้ว่า มีความแตกต่างกัน เนื่องจากบุคคลธรรมดามีความสามารถในการกำหนดและกระทำตามเจตจำนงของตนเองได้อย่างอิสระ แต่นิติบุคคลมีความสามารถในการทำนิติกรรม (เป็นคู่สัญญา) และกำหนดเจตจำนงได้เฉพาะเท่าที่ถูกกำหนดไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิเท่านั้น

นอกจากนี้หากพิจารณาในทางกฎหมายแล้ว การรับรองว่าสิทธิของบุคคลธรรมดาเริ่มขึ้นเมื่อใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 วางหลักไว้ว่า สภาพบุคคลจะเริ่มต้นเมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก ถ้อยคำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการรับรองการมีอยู่โดยธรรมชาติในเรื่องสภาพบุคคลของบุคคลธรรมดา แต่อย่างไรก็ดีจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสภาพสังคมโลกในปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนทุกขณะทำให้มีการคิดค้นและก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก สภาพการณ์เช่นนี้ส่งผลทำให้ความมีอยู่และการรับรองสภาพความเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลต้องถูกทบทวนและขยายความอีกครั้งเมื่อเทคโนโลยีที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ได้เกิดขึ้นและมีการนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับการดำเนินชีวิตของมนุษย์

ทั้งนี้เมื่อไม่นานมานี้สังคมโลกได้เห็นภาพและยอมรับความสามารถของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีนามว่า Alpha go ที่ได้เอาชนะปัญญาของมนุษย์ที่เป็นผู้เข้าแข่งขันในเกมการแข่งขันโกะ โดยเทคโนโลยีชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการคิดวิเคราะห์ของปัญญาประดิษฐ์จนทำให้ Alpha go สามารถเข้าใจระบบการเล่นของโกะได้อย่างดี ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสามารถในการคิดและทบทวนตนเองของปัญญาประดิษฐ์อันเป็นคุณสมบัติเช่นเดียวกันที่มนุษย์มี นอกจาก Alpha go แล้ว ปัญญาประดิษฐ์อีกชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า Sophia ยังมีระบบการคิดวิเคราะห์เช่นเดียวกันและยังสามารถแสดงออกความเห็นตลอดจนสามารถแสดงเจตจำนงของตนเองให้ปรากฏได้ แม้การแสดงออกของเจตจำนงดังกล่าวอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างบางประการเพราะปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวถูกออกแบบให้ทำงานเฉพาะด้านเท่านั้น แต่เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้ถูกพัฒนาต่อไป ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ก็อาจมีความสามารถคิดทบทวนและกระทำตามเจตจำนงของตนเองได้อย่างอิสระเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่านอกจากร่างกายและอวัยวะของเหล่าปัญญาประดิษฐ์จะมีความแตกต่างกับมนุษย์แล้ว ก็ไม่มีสิ่งอื่นใดเลยที่จะสร้างความแตกต่างระหว่างปัญญาประดิษฐ์และมนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงเกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณากำหนดและรับรองความเป็นสภาพบุคคลให้กับปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาบทบัญญัติกฎหมายของประเทศไทยแล้วพบว่า ขณะนี้ยังไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติรับรองสิทธิให้กับบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นสถานะทางกฎหมายของปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จึงเป็นเพียงแค่ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเท่านั้น หากในอนาคตมีการรับรองสิทธิและสภาพบุคคลให้กับปัญญาประดิษฐ์แล้ว สิ่งที่นักกฎหมายและสังคมจะต้องพิจารณาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้นมีหลากหลายประเด็น เช่น ประเด็นเรื่องสิทธิของปัญญาประดิษฐ์ การมีหน้าที่ต่อสังคมในทางกฎหมาย การคุ้มครองปัญญาประดิษฐ์ในการทำงาน การมีสิทธิในการถือครองทรัพย์สินตลอดจนการเก็บภาษีจากเหล่าปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นแรงงานในระบบตลาดแรงงานเพื่อทดแทนการจ้างงานแรงงานที่เป็นมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้หลายฝ่ายได้กล่าวถึงและพยายามหาคำตอบของประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว

ดังนี้จะเห็นได้ว่าการที่เราสามารถกำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของสภาพบุคคลของมนุษย์ให้ปรากฏในกฎหมายดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว เหตุใดเราจึงไม่กำหนดสภาพบุคคลตามกฎหมายให้กับปัญญาประดิษฐ์เช่นเดียวกับมนุษย์ เพื่อทำให้สอดรับกับพลวัตรของสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

 โดย...

สุรินรัตน์ แก้วทอง

ชญานนท์ พรหมอินทร์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์