ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ในยุคโลกป่วน

ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ในยุคโลกป่วน

ห้วงเวลานี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์โลก รวมถึงประเทศไทย เรากำลังอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

หรือที่เรียกกันว่า ยุคโลกป่วน (Disrupted World)” ในขณะที่ World Economic Forum เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”

สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากพลวัตในหลายด้าน โดยเฉพาะโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และปัจจัยสำคัญที่สุดคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตัวอย่างเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ได้แก่ การปฏิวัติดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ บล็อกเชน เครื่องพิมพ์สามมิติ บิ๊กเดต้า และอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoTs)

องค์กรและประเทศต่างๆ ต่างกำลังปรับตัวกันขนานใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ใหม่ได้นำมาซึ่งชุดของโอกาสและความเสี่ยงใหม่ การใช้ยุทธศาสตร์หรือโมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้เกิดการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลต่อบุคคลได้ (peer to peer) ส่งผลให้สามารถตัดตัวกลางออกไปได้ จึงทำให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นตัวกลางในปัจจุบันจะได้รับผลกระทบอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นในสาขาการเงินการธนาคาร ประกันภัย การรับรองทรัพย์สินทางปัญญา การขึ้นทะเบียนที่ดิน เป็นต้น

ในกรณีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่ก้าวหน้ามากก็ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากใช้หุ่นยนต์และเอไอแทนผู้ใช้แรงงานและพนักงานทั่วไป จึงส่งผลกระทบต่อสังคมการทำงานและตลาดแรงงานในวงกว้าง โดยมีหลายอาชีพที่มีความเสี่ยงจะถูกทดแทนจนหายไป เช่น พนักงานขายของทางโทรศัพท์ พนักงานส่งพัสดุ พนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหาร เลขานุการ และแรงงานในโรงงาน เป็นต้น

องค์กรขนาดใหญ่ถ้าไม่สามารถปรับตัวสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ได้จะมีความเสี่ยงสูงเป็นอย่างยิ่ง เพราะองค์กรใหญ่มักมีต้นทุนการบริหารจัดการด้านบุคลากรสูง ดังนั้น เราจึงเห็นองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มปรับโครงสร้างองค์กร และลดจำนวนบุคลากรลง พร้อมทั้งตั้งกลุ่มพัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อตอบโจทย์อนาคต 

ในอีกด้านหนึ่งยุคโลกป่วนนี้ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่สามารถเริ่มต้นธุรกิจโดยใช้เงินทุนเพียงเล็กน้อยแต่ใช้แพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีสร้างสรรค์ธุรกิจในรูปแบบใหม่จนสามารถพลิกผันเอาชนะธุรกิจขนาดใหญ่แบบเดิมๆ ได้

เมื่อชุดของโอกาสและความเสี่ยงเปลี่ยนไป จึงถึงเวลาที่องค์กรต่างๆ จะต้องกลับมาประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองใหม่ เพราะบางทีจุดอ่อนอาจจะกลายเป็นจุดแข็ง หรือจุดแข็งอาจกลับกลายเป็นจุดอ่อนภายใต้ภูมิทัศน์นี้ก็ได้ องค์กรต่างๆ จึงต้องทบทวนตนเอง และสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ (Vision) เพื่อตอบโจทย์ในยุคโลกป่วนนี้ ตัวอย่างเช่น

(1) ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่สามารถเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ แต่ อิสราเอลได้ลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมด้าน เอไอ มาเป็นเวลานาน เมื่อ เอไอ ถูกนำไปใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรถยนต์มากขึ้นส่งผลให้อิสราเอลมีสตาร์ทอัพหลายร้อยบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ จนกำลังกลายเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งหนึ่งของโลก นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า สิ่งที่เคยเป็นจุดอ่อนในอดีตสามารถใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนให้เป็นจุดแข็งได้

(2) ร้านสะดวกซื้อในประเทศญี่ปุ่น ทั้ง เซเว่นอีเลฟเว่น ลอว์สัน และแฟมิลี่มาร์ท มีจุดแข็งเรื่องการกระจายจุดการให้บริการที่แพร่หลายแก่ผู้บริโภคในชุมชน ที่ผ่านมา ร้านสะดวกซื้อให้ความสำคัญกับคนหนุ่มสาวเป็นหลัก แต่เมื่อคนหนุ่มสาวหันไปจับจ่ายในออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งสังคมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดจนมีจำนวนผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ร้านสะดวกซื้อจึงต้องปรับโมเดลธุรกิจใหม่ เน้นตอบโจทย์ผู้สูงอายุแทน เช่น ปรับปรุงร้านและป้ายราคาให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ มีบริการจัดส่งอาหารสุขภาพไปที่บ้าน เปิดพื้นที่ภายในร้านเป็นที่พบปะสังสรรค์ของผู้สูงวัยในชุมชน สะท้อนการปรับตัวเข้ากับบริบทใหม่ที่เปลี่ยนไป

(3) บริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป เป็นบริษัทชั้นแนวหน้าที่รับผลิตโทรศัพท์และประกอบ (OEM) ให้กับโทรศัพท์แบรนด์ดังๆ หลายยี่ห้อ เช่น ไอโฟน แม้ว่าฟ็อกซ์คอนน์เองจะไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเองก็ตาม จากการที่เป็นบริษัทรับผลิตขนาดใหญ่จึงมีจำนวนแรงงานสูงระดับล้านคน ในปัจจุบันเมื่อหุ่นยนต์พัฒนาไปมาก ฟ็อกซ์คอนน์จึงกำลังเร่งลงทุนใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทและลดต้นทุนในระยะยาว แต่ก็มีผลกระทบต่อแรงงานจำนวนมากในอนาคต

(4) บริษัท JX Press สตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นได้ปฏิวัติวงการข่าว โดยใช้หุ่นยนต์รันห้องข่าวของตนเองโดยไม่มีผู้สื่อข่าวเลย แต่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อสแกนโซเชียลมีเดียจนสร้างข่าวอัพเดทได้อย่างรวดเร็วก่อนสำนักข่าวใหญ่จะตามทัน ปัจจุบันแอป News Digest ของบริษัทเป็นแอปรายงานข่าวที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น แม้แต่ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอื่นก็ใช้แอปนี้เป็นแหล่งข้อมูล ส่งผลให้บริษัทสื่อขนาดใหญ่จะต้องปรับตัวอย่างมาก

(5) บริษัท SpaceX ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการสร้างจรวดเพื่อส่งคนไปยังดาวอังคาร สามารถพัฒนาจรวดที่นำมากลับมาใช้ใหม่ได้ บริษัทเข้าใจว่าแม้คนจะนิยมติดต่อสื่อสารกันในโลกดิจิทัล แต่ก็ยังต้องการการพบปะพูดคุยกันต่อหน้า บริษัทจึงกำลังพัฒนาจรวดเพื่อเชื่อมต่อเมืองต่างๆ ให้คนสามารถเดินทางไปที่ไหนก็ได้ในโลกภายในเวลา 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะปฏิวัติรูปแบบการเดินทางระหว่างประเทศในอนาคต และกระทบกับสายการบินต่างๆ

จากตัวอย่างข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ในยุคโลกป่วนนี้ ชุดของโอกาสและชุดความเสี่ยงใหม่ๆ ทำให้องค์กรจะต้องกลับมาทบทวนจุดแข็งจุดอ่อนของตนเองใหม่ พร้อมกับปรับยุทธศาสตร์ ซึ่งอาจหมายถึงการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจตัวเองอย่างขนานใหญ่ (Self-Disrupted) ก่อนที่จะพ่ายแพ้หรือโดนสตาร์ทอัพสร้างธุรกิจใหม่มาโค่นล้มธุรกิจแบบเดิมๆ อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับหลายบริษัท

ผู้นำองค์กรจะต้องเปิดกว้าง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในจุดพลิกผันนี้ พร้อมเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ สร้างการทดลองใน Sandbox เข้าใจความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนติดตามนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อาจมาจากนอกอุตสาหกรรม โลกยุคป่วนจึงเป็นกระแสที่รุนแรง ผู้ที่ปรับตัวได้เท่านั้นจะสามารถยืดหยัดอยู่ได้และสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อตอบโจทย์อนาคตที่กำลังเปลี่ยนไป

 โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation