สิ่งที่ไทยต้องเรียนรู้ จากนโยบายด้าน AI ของยุโรป

สิ่งที่ไทยต้องเรียนรู้ จากนโยบายด้าน AI ของยุโรป

ยุโรป แม้จะเป็นศูนย์กลางทาง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และ การเมือง ที่มีความสำคัญของโลก

แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยุโรป กลับได้สูญเสียความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ที่ในปัจจุบันถูกครอบงำโดย สหรัฐ และ จีน ผู้ซึ่งกำลังแย่งชิง ความเป็นอภิมหาอำนาจทางเทคโนโลยีในยุคนี้ และในอนาคตอันใกล้ที่จินตนาการของมนุษย์จะสามารถคาดคะเนถึง

แต่ถึงกระนั้น ประชากรชาวยุโรป ล้วนเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง นโยบายทางการเมือง เพื่อกำหนดทางทิศทางของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้มียุทธศาสตร์ที่แยบยล เพื่อคานอำนาจกับธุรกิจข้ามชาติจากสหรัฐที่เข้ามารุกรานแย่งชิงตลาด และครอบงำอธิปไตยทางข้อมูลข่าวสารของชาติยุโรป

เพราะนโยบายของยุโรป อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่ว่าดิจิทัลเป็นโลกไร้พรมแดน และการให้บริการดิจิทัลในยุโรปได้ถูกครอบงำโดยธุรกิจข้ามชาติจากสหรัฐมานานนับทศวรรษแล้ว และข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆของชาวยุโรป ได้ถูกส่งออกผ่านสายเคเบิลใต้น้ำไปยังคลาวด์ของบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่อยู่นอกเขตอำนาจของรัฐบาลยุโรป

หลายปีที่ผ่านมา จึงเป็นการต่อสู้เพื่อทวงคืนอธิปไตยทางข้อมูลข่าวสารของชาวยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วย การฟ้องร้องด้วยข้อหาต่างๆ เช่นการส่งออกข้อมูลส่วนบุคคลข้ามชาติ การออกกฎหมายใหม่ๆ เช่น Google Tax, GDPR ฯลฯ

หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลยุโรป ได้บัญญัติกฎหมายใหม่ อย่างมิได้เกรงกลัวอิทธิพลของธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้

ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดนโยบายด้าน AI ของยุโรป โดยได้แต่งตั้ง ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาครัฐ กลุ่มผู้บริโภค สหภาพ และ NGO เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู​้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน ด้วยการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก AI อย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านบวกและด้านลบ

ในด้านบวก คงไม่ต้องนำมาพูดถึงในที่นี้ เพราะเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนพร้อมใจกันประโคมข่าว จนได้อยู่ในทัศนวิสัยของสังคมโลกในปัจจุบันอย่างชัดแจ้งอยู่แล้ว

ส่วนในด้านลบ มีตั้งแต่ กรณีที่ รัฐบาลยุโรป ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ แชทแฮมเฮาส์ สถาบันนโยบาย ด้านการต่างประเทศอันเก่าแก่ของอังกฤษ ยังได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องความไม่เท่าเทียม และกระทั่ง การถูกครอบงำโดยสหรัฐและจีน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องความเป็นส่วนตัว คงหนีไม่พ้นกรณีของกล้องวงจรปิด ที่ติดตั้งระบบ AI จนสามารถบ่งชี้ได้อย่างอัตโนมัติ ไม่เพียงแค่ตัวตนของทุกคนที่อยู่ในกล้อง แต่ยังสามารถขยายผลสู่่ พฤติกรรม อารมณ์ ฯลฯ ซึ่งในขณะนี้ มีหลายประเทศที่เริ่มติดตั้ง โครงข่ายกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งระบบ AI เพื่อสอดแนมพฤกติกรรมของประชาชนในชาติ กรณีดังกล่าว ส่งผลต่อความเป็นส่วนตัวของประชาชนอย่างชัดเจน

ในเรื่องความไม่เท่าเทียม มีการถกเถียงกันในอย่างน้อยสองกรณี หนึ่ง การที่ AI จะมาแย่งอาชีพบุคคลด้อยโอกาส และเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม และ สอง การที่ธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถลงทุนใน AI ได้มากกว่า จนสามารถสร้างการผูกขาดได้ด้วย AI จนธุรกิจขนาดกลาง เล็ก และ ธุรกิจเกิดใหม่ ไม่สามารถเข้าแข่งขันได้

ส่วนในเรื่องการถูกครอบงำโดยสหรัฐและจีน เป็นสิ่งที่สามารถเล็งเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าอภิมหาอำนาจทางด้าน AI ในยุคต่อไป ย่อมต้องหนีไม่พ้น สหรัฐ และ จีน ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของยุโรป คือการรอดพ้นจากการถูกครอบงำโดยสหรัฐและจีน ด้วยการสร้างความแข็งแกร่งทางด้าน AI ให้เป็นเทคโนโลยีของชาวยุโรปให้มากที่สุด

นโยบายด้าน ​AI และรวมไปถึงนโยบายด้านดิจิตอลของยุโรป เป็นสิ่งที่สมควรต้องศึกษา เพราะส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนถึงการต่อสู้ของประเทศที่เสียเปรียบทางเทคโนโลยี แต่ไม่ได้เสียเปรียบในด้านอื่น เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกครอบงำโดยอภิมหาอำนาจทางเทคโนโลยี และอีกส่วนหนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่ไม่ได้สุดโต่งเพื่อมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ด้านทุนนิยมแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีการรับฟังและบริหารจัดการผลกระทบด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู​้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน

GDPR ที่ออกมาในเร็วนี้ๆ ก็เป็นอีกกรณีที่สมควรติดตาม เพราะเป็นการกำกับดูแลธุรกิจดิจิตอลข้ามชาติ อย่างที่ไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพล และยังเป็นการควบคุมธุรกิจเหล่านี้ อย่างคมเข้มยิ่งกว่ารัฐบาลสหรัฐกำกับดูแลธุรกิจของชาติเสียเอง

นี่จึงเป็นสิ่งที่ไทย ควรจะต้องเรียนรู้จากชาวยุโรป