ตลาดเกิดใหม่ ‘ป่วน’ ไทยต้องระวังลูกหลง

ตลาดเกิดใหม่ ‘ป่วน’ ไทยต้องระวังลูกหลง

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องให้ “ตื่นเต้น” มากมาย สำหรับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการพบปะกันระหว่าง 2 ผู้นำ ในโลกทุนนิยมกับเผด็จการ

ซึ่งจบลงแบบ “แฮปปี้เอนดิ้ง” ทำให้ความกังวลเรื่องสงครามนิวเคลียร์ลดทอนลงไปมาก เป็นภาพบวกต่อการลงทุน

แต่นักลงทุนแฮปปี้ได้ไม่นาน ก็ต้องเผชิญ “ข่าวร้าย” จากการ “ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย” ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ปรับขึ้นอีก 0.25% สู่ระดับ 1.75-2% แม้นักลงทุนคาดการณ์ไว้แล้วว่า การประชุมรอบนี้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ที่ “เซอร์ไพร์ส” คือ การส่งสัญญาณว่าจะ “ทยอยขึ้นต่อเนื่อง” ตลาดการเงินจึงฟันธงว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ เฟด อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกทันที

ถัดมาอีกแค่วันเดียว ก็ต้องเผชิญข่าวร้ายซ้ำสอง เมื่อ ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ประกาศว่า จะคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี) ที่ระดับ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ไปจนถึงเดือนก.ย. และจะเริ่มปรับลดวงเงินลง สู่ระดับ 1.5 หมื่นล้านยูโรในเดือนต.ค. ..ที่สำคัญ “อีซีบี” บอกว่า จะยุติการทำ “คิวอี” ภายในสิ้นเดือนธ.ค.2561

ผลประชุมของทั้ง “เฟด” และ “อีซีบี” นับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ของโลก “กำลังถอนคันเร่งเศรษฐกิจ” แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องการเงินในตลาดโลกด้วย โดยเฉพาะ “ตลาดเกิดใหม่”

ที่ผ่านมาเราจึงเห็น “ความปั่นป่วน” ที่เกิดกับบางประเทศในตลาดเกิดใหม่ เช่น อาร์เจนตินา ตุรกี อินเดีย และ อินโดนีเซีย ด้วยเพราะประเทศเหล่านี้ พึ่งพาเงินทุนต่างชาติค่อนข้างมาก เมื่อสภาพคล่องลดลง จึงส่งผลกระทบโดยตรง

ปัจจุบัน อาร์เจนตินา มีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อเงินทุนสำรองฯ สูงถึง 400% , ตุรกี มีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อทุนสำรองฯ ราว 500% , อินเดีย มีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อเงินทุนสำรองฯ ราว 120% และ อินโดนีเซีย มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อเงินทุนสำรองฯ ราว 250%

ท่ามกลาง “วิกฤติ” สภาพคล่องในตลาดเกิดใหม่ หนีไม่พ้นที่ “ไทย” ตกเป็นเป้าสายตาของนักลงทุนต่างชาติด้วย แต่สถานการณ์ลักษณะนี้ “นักวิเคราะห์” จากทุกสำนัก “ฟันธง” ตรงกันว่า “รับมือได้”

สาเหตุเพราะ “ฐานะต่างประเทศ” ของไทยถือว่า “แข็งแกร่ง” สะท้อนผ่านการ “เกินดุล” บัญชีเดินสะพัด ที่สูงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อจีดีพี ขณะที่ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อเงินสำรอง อยู่ระดับต่ำเพียง 67% เท่านั้น ..ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนต่างชาติบางกลุ่ม จึงมองไทยเป็นเหมือน “เซฟเฮฟเว่น” ของประเทศตลาดเกิดใหม่

แต่นั่นไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราควรประมาท เพราะปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มเห็น “แรงขาย” ของนักลงทุนต่างชาติออกมาค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะใน “ตลาดหุ้น” ส่งผลให้ตลอดสัปดาห์ นักลงทุนกลุ่มนี้มียอด “ขายสุทธิ” ในตลาดหุ้นไทยสูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาท

ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่า แม้สถานการณ์ในไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ก็ต้อง "ระวังลูกหลง” เพราะนักลงทุนบางกลุ่มลงทุนแบบเหมาเข่ง โดยเราถูกจัดอยู่ในกลุ่ม TIP(ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์) เวลาซื้อ มักซื้อยกเข่ง เวลาขายจึงขายยกเข่งด้วย

ที่สำคัญ “ดอกเบี้ย” สหรัฐ เริ่มสูงกว่าไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่เงินทุนไหลออกต่อเนื่องจึงมีความเป็นไปได้ นับเป็นเรื่องที่เราไม่ควรประมาท!