ต้องเข้าใจความจริงของโลก

ต้องเข้าใจความจริงของโลก

เมื่อเร็วๆนี้ Bill Gates ประกาศว่า จะมอบหนังสือให้บัณฑิตอเมริกันทุกคนที่จบในปี 2018 ในรูปดาวน์โหลดฟรี จำนวนทั้งหมด 4 ล้านคน

เพื่อช่วยสร้างให้เป็นผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลก มิใช่เข้าใจตามความรู้สึกซึ่งจะเป็นการสร้างฐานคิดที่ดีให้แก่คนอเมริกันรุ่นใหม่

ก่อนที่จะบอกว่าหนังสือชื่ออะไร ใครเขียน ลองสำรวจกันว่า ท่านรู้สึกว่าโลกใบนี้เต็มไปด้วยสถานการณ์ที่เลวร้ายลงตลอดเวลาและจะเลวลงไปเรื่อยๆ เช่น (ก)ในรอบ20ปีที่ผ่านมาสัดส่วนของคนยากจนสุดๆ เพิ่มมากขึ้น (ข) อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกปัจจุบันอยู่แค่ 50 ปี (ค) สัดส่วนประชากรโลกที่เข้าถึงไฟฟ้าในรูปหนึ่งเพียง 50% (ง) ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาจำนวนคนตายในโลกจากภัยพิบัติธรรมชาติเลวร้ายเหมือนเดิมและ(จ) ปัจจุบันเด็กอายุ 1 ปี ในโลกได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคน้อยมากเพียงไม่ถึง 50%

เชื่อไหมว่า ทั้งหมดข้างบนนี้ผิดอย่างสิ้นเชิง คำตอบคือ (ก) สัดส่วนความยากจนสุดๆ ลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง (ข) อายุขัยเฉลี่ยของชาวโลกคือ 70 ปี (ค) คนเข้าถึงไฟฟ้า 80% (ง) จำนวนคนตายลดลงไปจนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (จ) เด็กๆ ได้รับการฉีดวัคซีน 80%  คำตอบเหล่านี้ ผู้เขียนมีเอกสารอ้างอิงจากองค์กรระดับโลก คำถามสำคัญก็คือ คนส่วนใหญ่มองโลกในแง่ร้ายกว่าความเป็นจริงได้อย่างไร

ผู้เขียนมีบททดสอบประกอบด้วย13คำถาม(4ข้อนี้รวมอยู่ในนั้นด้วย)ซึ่งได้ถามใครต่อใครทั้งโลกรวมทั้งผู้นำของโลกด้วย มีคนตอบถูกโดยเฉลี่ยเป็นจำนวนน้อยกว่าที่ซิมแปนซีสามารถตอบได้โดยเดาสุ่มซึ่งจะถูกประมาณ4ข้อ(มีตัวเลือกคำตอบ3ข้อ มีคำถาม 13ข้อ) มนุษย์สู้ซิมแปนซีไม่ได้เพราะเหตุใด ผู้เขียนมีคำตอบและคำแนะนำที่น่าสนใจมาก 

หนังสือเล่มนี้ชื่อ Factfulness เขียนโดย Hans Rosling ยอดนักพูดของ TED Talk (TED.com) ที่มีคนติดตามมากที่สุดคนหนึ่ง (มียอดวิวมากกว่า 35 ล้านครั้ง) มีการนำเสนอที่ยอดเยี่ยมและสนุกสนานมาก

Hans เป็นแพทย์ชาวสวีเดน ทำงานด้านสาธารณสุขให้องค์การระหว่างประเทศมายาวนาน โดยเฉพาะในอาฟริกา เป็นนักพูดระดับโลกที่เดินทางไปทุกแห่งหน มีประสบการณ์งานและชีวิตอย่างกว้างขวาง

Hans ชื่อที่เพื่อนๆ เรียกเขาอย่างรักใคร่พบว่า มนุษย์มีความไม่รู้สิ่งที่ควรรู้สูงมาก ดังบททดสอบดังกล่าว เขาพยายามหาสาเหตุเพื่อแก้ไขให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้อย่างถูกต้องซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมและนโยบายต่างๆ ที่เหมาะสม

Hans ระบุว่ามี 10 สาเหตุ ซึ่งได้แก่ (1) GAP Instinct (สัญชาตญาณช่องห่าง)หมายถึง มนุษย์ชอบที่จะแบ่งแยกสิ่งต่างๆ ออกเป็น 2 กลุ่มขาดจากกันเช่น “เขา” กับ “เรา” / “จน” กับ “รวย” / “ประเทศพัฒนาแล้ว” กับ “ประเทศกำลังพัฒนา” ฯลฯ อย่างมีช่องว่างอยู่ตรงกลางที่อธิบายไม่ได้ ในความเป็นจริงแล้วโลกซับซ้อนเกินกว่าที่จะมีเพียง 0 และ 1 หรือแยกออกเป็นสองขั้ว การคิดเช่นนี้ทำให้เรามองโลกอย่างบิดเบือนจนไปไม่ถึงความจริง

(2) Negativity Instinct (สัญชาตญาณลบ) คือทางโน้มที่เราสังเกตเห็นสิ่งที่เป็นลบมากกว่าที่เป็นบวก เมื่อใดเกิดสิ่งที่เป็นลบ เช่น สงคราม เศรษฐกิจผันผวน ฯลฯ เราจะเห็นความชั่วร้ายชัดเจน แต่ในยามดีเราจะมองไม่เห็น เช่น มนุษย์ในโลกมีความเป็นอยู่ดีกว่าเมื่อ 100 ปีก่อนอย่างชัดแจ้ง โดยเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่เมื่อใดที่มีข่าวเกี่ยวกับความยากจนที่เลวร้าย เราจะสังเกตเห็นจนตอกย้ำเข้าไปในความรู้สึกว่าเลวร้าย (3) The Straight Line Instinct (สัญชาตญาณเส้นตรง) เรามักจะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นเส้นตรงเช่น ประชากรจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนโลกจะเลวร้าย ความจริงคือ ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 11 พันล้านคน ในปี 2100 จาก 7 พันล้านในปัจจุบัน แต่มิได้พุ่งขึ้นดังเช่น จาก 1 พันล้านคน เมื่อปี 1800 เป็น 7 พันล้านคนในปัจจุบัน

(4) The Fear Instinct (สัญชาตญาณความกลัว) มนุษย์กลัวสารพัดสิ่ง เพราะมีชิปที่ฝังอยู่ใน DNA ซึ่งทำให้มนุษย์อยู่รอดมาได้ สิ่งที่เรากลัวเกิดขึ้นทุกวันไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยจากสัตว์ร้าย ภัยจากการก่อการร้าย ภัยจากโรคระบาด ฯลฯ มนุษย์เรามีตัวกรองความสนใจเกี่ยวกับความกลัวเป็นพิเศษ จนทำให้เราเห็นแต่สิ่งเวลร้ายมากกว่าสิ่งดีๆ (5) The Size Instinct (สัญชาตญาณขนาด) เรามองไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสมขนาดของมัน เรามักมองมันใหญ่เกินความจริงและเมื่อบวกกับการมองแง่ลบก็ทำให้ประเมินเห็นความเลวร้ายใหญ่โตเกินจริง (6) The Generalization Instinct (สัญชาตญาณการมองอะไรๆก็คงคล้ายกัน”) มนุษย์มีทางโน้มที่จะเห็นเรื่องร้ายๆ ว่า ร้ายเหมือนกันไปหมด เช่นเดียวกับความจนที่เหมือนกันทุกที่อย่างมองข้ามความแตกต่างในรายละเอียด (7) The Destiny Instinct (สัญชาตญาณชะตากรรม”) การมองว่าลักษณะข้างในเป็นตัวกำหนดชะตากรรม ของคน ศาสนา หรือชาติจนทำให้“มืออ่อนเท้าอ่อน” ยอมแพ้ไม่ต่อสู้ทั้งๆที่มีความก้าวหน้าช้าๆเกิดขึ้น

(8) The Single Perspective Instinct (สัญชาตญาณมองจากแง่มุมเดียว) ชีวิตมนุษย์และความก้าวหน้ามีหลายแง่มุมให้พิจารณา อย่าเชื่อข้อมูลสถิติอย่างเดียวเพราะมันมีข้อจำกัด การยึดตัวเลขอย่างเดียวคือความผิดพลาด (9) The Blame Instinct (สัญชาตญาณโทษกัน) มนุษย์ชอบโทษกัน มองหาคนรับผิด คนที่“ผูกขาดความดี”ไว้ที่ตนมักมองคนอื่นหรือสิ่งอื่นเลวหมด การมองแคบแบบนี้จะทำให้สิ่งต่างๆเลวร้ายกว่าความเป็นจริง (10) The Urgency Instinct (สัญชาตญาณเร่งด่วน) การเร่งด่วนกระทำหรือสรุปอะไรทันทีจะทำให้มองข้ามความจริง สับสนในข้อมูล หรือเลือกข้อมูลที่สนับสนุนข้อสรุปของตน

สิ่งที่ Hans ต้องการชี้ให้เห็นก็คือ โลกมิได้เลวอย่างที่เราเข้าใจกัน เราต้องดูความจริงโดยพยายามตัด 10 สัญชาตญาณนี้ออกไปให้มากที่สุด จึงจะได้ภาพที่ชัดเจนเพื่อการคิดและมองเห็นโลกที่ถูกต้อง คนรุ่นใหม่ต้องมีความเอนเอียงในการเข้าใจโลกน้อยที่สุดและพยายามเข้าใจสถิติข้อมูลที่ชี้ความจริงให้มากที่สุด

หนังสือเล่มนี้ Hansรักมาก เพราะเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาทิ้งไว้ให้โลกนี้ เขาจากไปเมื่อต้นปี 2017 ด้วยโรงมะเร็งในตับอ่อน ในวัย 68 ปี ขณะที่เสียชีวิตต้นฉบับที่แก้ไขด้วยลายมือของเขาวางอยู่ข้างเตียง

Hansเขียนไว้ว่า เราจะไม่สามารถเข้าใจโลกได้ถ้าไม่มีตัวเลข แต่ก็จะไม่สามารถเข้าใจโลกได้อย่างแท้จริงด้วยตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว