เศรษฐกิจโต 4.8% แต่ทำไมยังไม่รู้สึก “ดี” ?(1)​​​

เศรษฐกิจโต 4.8% แต่ทำไมยังไม่รู้สึก “ดี” ?(1)​​​

การถกเถียงกันอยู่ในระดับหนึ่งว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้ขยายตัวได้ “ดี” มากน้อยเพียงใด ภาครัฐยืนยันตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ 4.8% ในไตรมาสแรก

(ใครพูดเป็นอย่างอื่น ย่อมบิดเบือนข้อมูลและทำผิดกฎหมาย) ซึ่งผมก็เชื่อว่าเป็นตัวเลขจริง แต่เราต้องเข้าใจร่วมกันว่า การที่ จีดีพี โต 4.8% นั้น แปลว่า การผลิตสินค้าและบริการ (ในเชิงของปริมาณ) นั้น เพิ่มขึ้น 4.8% จริงในไตรมาสที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ในปี 2017 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่า ส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง (กว่าครึ่งหนึ่งของ 4.8%) มาจากการเพิ่มขึ้นของสต๊อกสินค้า และสต๊อกสินค้าบางส่วนที่เพิ่มขึ้น เช่น ยางพารานั้น เป็นสินค้าที่ราคาไม่ดี ขายของไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าพอใจ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของ จีดีพี

หลังจากการประกาศตัวเลข จีดีพี ไตรมาส1 แล้ว สภาพัฒน์ฯ ก็ได้ออกรายงานภาวะสังคมในไตรมาส 1 ซึ่ง พบว่า

  1. หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 7.1% ซึ่งอาจมองว่าไม่ใช่ปัจจัยบวกแต่ ส่วนใหญ่ ก็มาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรถยนต์(+10.6%) แปลว่าผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าแต่เป็นการซื้อด้วยรายได้ในอนาคต ไม่ใช่รายได้ปัจจุบัน
  2. การจ้างงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นถึง 6% “จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำเพียงพอต่อการทำงานเกษตร “ และผลผลิตก็เพิ่มขึ้น เช่นกัน แต่ปรากฏว่า รายได้ภาคการเกษตรลดลง 12.3% (เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ) โดยรายได้ของภาคเกษตรนั้น ลดลงติดต่อกันมาหลายไตรมาสแล้ว
  3. การจ้างงานโดยรวม (จำนวนผู้มีงานทำ)ก็ลดลง แต่รายได้แรงงานนอกภาคเกษตรที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่น (สวัสดิภาพของแรงงาน เช่น ประกันสุขภาพโดยนายจ้าง) เพิ่มขึ้น 2.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2017 โดยภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.5% แปลว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีงานทำนั้น ผมตีความว่าคงจะรู้สึก ดีขึ้นประมาณ 2.3% ไม่ใช่ดีขึ้น 4.8%ที่น่าสนใจคือ สภาพัฒน์ประเมินว่าผลิตภาพแรงงาน (labour productivity) นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 7.7% (แต่ทำไมรายได้เพิ่มขึ้น 2.3%?) แต่ตัวเลขผลิตภาพนั้นวัดยากและอาจผันผวนได้อย่างมากในบางครั้ง

ดังที่ ผมกล่าวข้างต้นว่า คนไทยส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน ดังนั้น จึงควรมาดูจำนวนผู้มีงานทำ และการจ้างงานในภาคต่าง ๆ หากต้องการจะประเมินว่าเศรษฐกิจ “ดี” สำหรับคนไทยส่วนใหญ่หรือไม่ ดังปรากฏในตาราง 1 ซึ่งผมรวมเอาตัวเลขประชากรของไทยทั้งหมดเป็นข้อมูลพื้นฐานด้วย ทั้งนี้ ตัวเลขทั้งหมดอ้างอิงจากตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ

เศรษฐกิจโต 4.8% แต่ทำไมยังไม่รู้สึก “ดี” ?(1)​​​

จะเห็นได้ว่าจำนวนประชากรของไทยนั้น ยังเพิ่มขึ้นอยู่ (เพิ่มขึ้น 260,000 คน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นับจากไตรมาส1 ของปีนี้) แต่จำนวนประชาชนที่อยู่ในวัยที่ทำงาน (กำลังแรงงาน) ลดลง 100,000 คน การลดลงดังกล่าว เกิดขึ้นมานาน 3 ปีแล้ว ดังนั้นโดยรวมมนุษย์เงินเดือนของไทยจะมีภาระมากขึ้น ทั้งทางตรงที่จะต้องสนับสนุนจำนวนขนาดครอบครัวที่ยังขยายตัว คือ บิดา-มารดา และญาติผู้ใหญ่ที่กำลังแก่ตัวลงและมีจำนวนมากขึ้น) พร้อมกับการที่รัฐบาลคงจะแสวงหาแนวทางในการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพราะรัฐบาลก็จะมีภาระในการดูแลผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จะเห็นได้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวแบบไม่สร้างงาน กล่าวคือ จำนวนผู้มีงานทำลดลงจาก 37.68 ล้านคน ในไตรมาสแรก 2017 มาเป็น 37.44 ล้านคนในไตรมาสแรก 2018 จำนวนงานหายไป 240,000 คน นอกภาคเกษตรนั้น โดยรวมมิได้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีขนาดใหญ่ และน่าจะให้เงินเดือนสูงที่สุด (และขยายตัวดีที่สุด จากการส่งออกที่ขยายตัวดี) แต่ปรากกว่า มีการลดคนงานไป 90,000 คน ภาคที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นคือ ภาคขายปลีก/ขายส่ง และภาคโรงแรม และภัตตาคาร ซึ่งน่าจะให้ผลตอบแทนแรงงานต่ำกว่าภาคการผลิต นอกจากนั้น ภาคราชการและการศึกษาก็ยังจ้างงานเพิ่มขึ้น บรรทัดสุดท้ายคือการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 10,000 คน ซึ่งสภาพัฒน์อธิบายว่า คนที่เพิ่งเรียนจบ และผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ การทำงานมาก่อนจะมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่าเฉลี่ย ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่าโดยรวมนั้น ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานที่ต่ำมาก (ไม่ถึง 1%) ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยได้ครับ