ย่างกุ้ง: ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงและความเหลื่อมล้ำ***

ย่างกุ้ง: ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงและความเหลื่อมล้ำ***

มียนมาถือได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจาก

การนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปทางการเมืองสู่เส้นทางประชาธิปไตย ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2010

การพัฒนาที่เกิดขึ้น แม้จะนำมาสู่การยกระดับทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดาชนชั้นกลางและนายทุนน้อยใหญ่ หากแต่ในอีกมุมหนึ่งก็ได้นำมาสู่ปัญหาทางสังคมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ย่างกุ้ง เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของประเทศเป็นภาพตัวแทนที่ดีของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และผลกระทบจากการพัฒนาที่เกิดขึ้น

ย่างกุ้ง: ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงและความเหลื่อมล้ำ***

หากใครได้มีโอกาสเดินทางไปย่างกุ้งในทุกวันนี้จะพบกับภาพของเมืองที่กำลังมุ่งสู่ความเป็นสมัยใหม่ เฉกเช่นเมืองหลักต่างๆ ของภูมิภาค อาคารทรงสูงแบบสมัยใหม่ได้ผุดขึ้นเคียงข้างตึกโคโลเนียลที่กำลังบูรณะเพื่อรองรับประโยชน์ทางธุรกิจและการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่ขนส่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในเขตอุตสาหกรรมรอบเมืองย่างกุ้ง

ข้อมูลจากธนาคารโลก ได้ชี้ให้เห็นว่าความเป็นเมืองขอเมียนมาได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือ ในปี 2000 มีประชากรในเขตเมืองอยู่เพียง 4.7 ล้านคนหรือ 10% ของประชากรทั้งประเทศ ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 6.7 ล้านคน (13%) ในปี 2010 และก้าวกระโดดเป็น 14 ล้านคนหรือราว 30% ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่การขยายตัวจะกระจุกอยู่ในเมืองศูนย์กลางของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่างกุ้งและมัณฑะเลย์

อย่างไรก็ดี ภายใต้ฉากหน้าของการพัฒนาและความเป็นสมัยใหม่ ชุมชนแออัด” หรือ สลัม ก็ได้ปรากฎขึ้นทั่วเมืองย่างกุ้งสอดแทรกอยู่กับความเป็นสมัยใหม่ของอาคารบ้านเรือนและอุตสาหกรรม เฉกเช่นเดียวกับความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวขึ้นแทรกกับภาพความเจริญมั่งคั่งของเมืองอันเป็นศูนย์กลางที่ดึงดูดทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศ

การพูดคุยและลงพื้นที่ของผู้เขียนร่วมกับ Bendar Social Development Group ในชุมชนแออัดเขตแลงทายา (Hlaing Thar Yar) พื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเมียนมาที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ได้ชี้ให้เห็นภาพของความเหลื่อมล้ำและความยากจนในเขตเมืองของย่างกุ้งได้เป็นอย่างดี

สาเหตุหลักๆ ของการเกิดขึ้นของชุมชนแออัดในเขตแลงทายา อาจกล่าวได้ว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ประการ อันมีรายละเอียดพอสังเขปดังต่อไปนี้

ประการแรก ไซโคลนนากิสในปี 2008 ที่ส่งผลให้คนนับล้านในเขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิระวดีต้องประสบกับภาวะไร้ที่อยู่อาศัย สูญเสียที่ดินทำกิน สูญเสียแหล่งงาน ต้องอพยพย้ายถิ่นมาตั้งถิ่นฐานยังเขตอุตสาหกรรมของย่างกุ้ง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมายังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ พื้นที่เพาะปลูกกลายเป็นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำกัดเซาะไหลเปลี่ยนทิศ ส่งผลต่อการสูญเสียทีดินทำกินและแหล่งอาหารของครัวเรือนจำนวนมากในเขตอิระวดี

ประการที่สอง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นระหว่างเมืองใหญ่กับเขตชนบทหลังการเปิดประเทศในต้นทศวรรษ 2010 ได้นำมาสู่การย้ายถิ่นของผู้คนจากเขตชนบทเข้ามาในเขตเมืองอันเป็นพื้นที่แห่งโอกาสและความหวังในการประกอบอาชีพและยกระดับรายได้ ในทางเดียวกับการพัฒนาเกษตรกรรมขนาดใหญ่ของกลุ่มทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียที่ดินและอาชีพของคนในเขตชนบท

ประการที่สาม ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในภาคการเกษตร ได้ทำให้ความต้องการแรงงานภาคเกษตรกรรมในเขตอิระวดีที่เดิมมีลักษณะการใช้แรงงานอย่างเข้มข้นมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการทางด้านแรงงานลดต่ำลงอย่างมากและอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นแรงผลักดันให้เกิดการอพยพของผู้คนเข้ามาแสวงหาแหล่งงานในเขตเมือง

ผู้คนที่อพยพเข้ามาในเขตชุมชนแออัดของแลงทายาส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานเป็นเพิงไม้ชั้นเดียว อยู่ในพื้นที่ว่างระหว่างโรงงานกับถนนในเขตอุตสาหกรรม หรือในเขตคูคลองที่รกร้างว่างเปล่า ส่วนหนึ่งมีลักษณะของการเช่าหรือซื้อที่อยู่อาศัยจากเจ้าของเดิมที่เป็นแรงงานเมื่อครั้งสร้างโรงงานต่างๆ

ในส่วนของคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนแออัดเขตนี้อาจกล่าวได้ว่า “คุณภาพชีวิตย่ำแย่ แต่ราคาสูง กล่าวคือ ชาวสลัมหรือชุมชนแออัดไม่เพียงแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตทุกอย่างเฉกเช่นคนในเมืองเท่านั้น หากแต่เป็นการจ่ายที่แพงกว่าคนทั่วไปเมื่อเทียบกับคุณภาพ ตัวอย่างที่เห็นอย่างชัดจนคือค่าไฟฟ้าที่มีอัตราเรียกเก็บจากผู้ปั่นไฟในชุมชนเป็นรายชิ้น (หลอดไฟดวงละ 100-150 จั๊ตหรือ 2.4 บาท/วัน, โทรทัศน์ 200 จั๊ตหรือ 5 บาท/วัน) และใช้ได้เฉพาะช่วงเวลา 19.30-22.30 น หรือ 3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยทั้งหมดยังไม่มีกรรมสิทธิและมีความเสี่ยงจากการไล่รื้อโดยภาครัฐหรือเจ้าของที่ดิน สภาพการจ้างงานของคนส่วนใหญ่มีความไม่มั่นคง มีรายได้รายวัน และขาดสวัสดิการ ครัวเรือนส่วนใหญ่แทบไม่สามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจได้ ทำได้อย่างมากคือการรักษาระดับรายได้และการมีงานทำ ส่งผลให้ความยากจนถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของเมืองและประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

แม้หน่วยงานภาครัฐของเมียนมาจะเห็นถึงปัญหาชุมชนแออัดที่เกิดขึ้นจากสภาพความเป็นจริงและการเรียนรู้จากองค์กรระหว่างประเทศ หากแต่แนวทางการแก้ไขปัญหาดูเหมือนจะแทบไม่ตอบโจทย์ของชีวิตชาวสลัม โครงการที่อยู่อาศัยราคาถูก (affordable housing) ไม่เพียงจะมีราคาที่สูงเกินกว่าบรรดาคนยากจนในเขตเมืองจะเข้าถึงได้ หากแต่ยังขาดแผนงานในการสนับสนุนด้านเงินทุนและการยกระดับความมั่นคงชีวิตในมิติต่างๆ

ชุมชนแออัดและความยากจนในเขตเมืองของเมียนมาจึงมิใช่ภาพสะท้อนของตัวมันเองแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ได้สะท้อนภาพใหญ่ของปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงภาพการพัฒนาอันไม่ยั่งยืนและความเหลื่อมล้ำในระดับโลก

 

*** ชื่อเต็ม: ชุมชนแออัดในย่างกุ้ง: ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงและความเหลื่อมล้ำ

โดย... 

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์

ศูนย์แม่โขงศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย