การพัฒนาอุตสาหกรรมของเวียดนาม มองเค้ามองเรา

การพัฒนาอุตสาหกรรมของเวียดนาม มองเค้ามองเรา

เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับการพูดถึงเกี่ยวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออกเปรียบเทียบกับไทยมาโดยตลอด

สืบเนื่องมาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีประมาณ 6-8% ซึ่งสูงกว่าไทย และการพัฒนาผลิตภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว การเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศมีส่วนทำให้ภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามได้รับการกระตุ้นที่สำคัญ ทั้งในช่วงแรกที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลักในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่บริษัทต่างชาติเริ่มหันไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นอย่างอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าในปัจจุบันจะยังเป็นการเน้นการใช้แรงงานอยู่ก็ตาม จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าในที่สุดแล้วเวียดนามจะสามารถยกระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไปมากกว่าการเป็นฐานการผลิตเพื่อได้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกและโอกาสในการเข้าสู่ตลาดหรือไม่

เวียดนามตั้งเป้าพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยภายในปี พ.ศ. 2563 กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมถึงปี พ.ศ. 2568 วิสัยทัศน์ถึงปี พ.ศ. 2578 จะเน้นไปที่การพัฒนากำลังแรงงานที่มีทักษะ มีวินัย และมีความสร้างสรรค์ รวมทั้งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ และอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ได้แก่ ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง อิเล็กทรอนิกส์ การคมนาคมสื่อสาร พลังงานใหม่และพลังงานทดแทน วิศวกรรมเครื่องกล และเภสัชเคมี ซึ่งในภาพรวม เวียดนามมิได้มีปัญหาในเรื่องการขาดการวางแผนในเชิงนโยบาย แต่ปัญหาหลัก คือ การนำแผนไปใช้จริงให้เกิดประสิทธิภาพ โดยให้เกิดความร่วมมือเชื่อมโยงกันและตอบสนองความต้องการของเจ้าของกิจการที่แตกต่างกันทั้งรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเอกชนในประเทศ และบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน

การที่เวียดนามยังมีกำลังแรงงานและโครงสร้างประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ทั้งยังมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนและรายได้ต่อหัวของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้เวียดนามเป็นตลาดที่น่าสนใจและดึงดูดให้ต่างชาติรวมทั้งบริษัทไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพื่อเป็นทั้งแหล่งส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของเวียดนาม และเพื่อขายในตลาดภายในประเทศของเวียดนามเองด้วย อย่างไรก็ดี ปัญหาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในเชิงสถาบัน ทั้งเรื่องของกฎระเบียบ ข้อกำหนด กฎหมายต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อันเนื่องมาจากเวียดนามเองก็พยายามที่จะปรับปรุงระเบียบเหล่านี้ให้ทันสมัยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้นักลงทุนต่างชาติมาเอาเปรียบ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้เข้าไปลงทุนในเวียดนามจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลทั้งกฎระเบียบในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ล่าสุดเวียดนามได้ปรับเปลี่ยนกฎหมายการลงทุน (Investment Law) และกฎหมายวิสาหกิจ (Enterprise Law) ปี พ.ศ. 2557 โดยเริ่มบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2558[1] โดยมีแนวทางที่อำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนมากขึ้น มุ่งลดขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ และเพิ่มความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ 

จากประสบการณ์ของนักลงทุนไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการส่งออกสินค้ามาทดสอบตลาดในเวียดนามก่อนและทำความรู้จักกับพฤติกรรมการบริโภคของคนเวียดนาม แล้วพิจารณาปริมาณความต้องการซื้อ หากมีมากพอจึงค่อยขยายมาเป็นทำการผลิตในเวียดนามในภายหลัง นอกจากนี้ จากการที่บริษัทในประเทศเวียดนามยังประสบปัญหามาตรฐานของสินค้า และช่องห่างทางเทคโนโลยีที่ทำให้บริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามนิยมนำเข้าสินค้าต้นน้ำแทนที่จะใช้สินค้าของท้องถิ่น นักลงทุนไทยก็สามารถใช้โอกาสนี้ในการเป็นส่วนเชื่อมห่วงโซ่การผลิตในเวียดนาม และเลือกลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรม (Industrial parks) เพื่อสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากการลงทุนได้อย่างเต็มที่

สำหรับบทเรียนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของเวียดนาม ซึ่งในทางกลับกันเวียดนามเองก็ใช้ไทยเป็น benchmark สำคัญ ส่วนหนึ่งที่เวียดนามให้ความสำคัญคือเรื่องของการพัฒนาคน โดยเฉพาะด้านการศึกษา และสาขาทางวิทยาศาสตร์เพื่อไปเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้คนเวียดนามยังมีความอดทน ขยัน และทำงานหนัก เพราะเค้ามองว่าจะต้องพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าให้ได้หลังจากผ่านสงครามมายาวนาน คนรุ่นใหม่ก็มาเป็นผู้ประกอบการกันตั้งแต่อายุน้อย ดังนั้นเวียดนามน่าจะได้เปรียบในเรื่องของแรงงาน แม้ว่าในปัจจุบันจะยังเป็นผลมาจากค่าแรงงานที่ถูกกว่าไทยโดยเปรียบเทียบ ซึ่งเมื่อค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ก็ต้องมารอดูกันว่าการที่เวียดนามให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงาน จะช่วยให้แรงงานเวียดนามปรับตัวได้ทันและมีความได้เปรียบอยู่หรือไม่ 

ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทภายในประเทศส่วนใหญ่ที่ยังเป็นบริษัทขนาดเล็กก็ต้องปรับตัวให้ทันการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อให้ได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นจากห่วงโซ่การผลิต รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ซึ่งยังไม่เห็นอย่างชัดเจนนักในปัจจุบัน แต่ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า หากเวียดนามพัฒนาเต็มศักยภาพ ใช้พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเต็มที่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการเติบโตต่างๆที่เพิ่มขึ้นได้ทัน การพัฒนาทักษะแรงงาน ยกระดับทางด้านอุตสาหกรรมได้สำเร็จ รวมไปถึงปรับปรุงปัญหาด้านสถาบันและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและรวดเร็วในการปฏิบัติ และลดปัญหาการคอร์รัปชั่น เวียดนามจะกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะถ้าหากไทยไม่ปรับตัวตามให้ทันการไล่ตามของเวียดนาม

โดย...  

ดร.ชญานี ชวะโนทย์

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นักวิจัย ฝ่าย 1 สกว. 

[1] ทางสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ได้จัดทำหนังสือคู่มือการทำธุรกิจและการลงทุนในเวียดนามเป็นภาษาไทย (มกราคม 2560) โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่เวบไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์: http://www.thaiembassy.org/hochiminh/contents/files/business-20171218-173414-900263.pdf