ประเทศไทยมี “อธิปไตยไซเบอร์” ที่แท้จริงหรือไม่ ?

ประเทศไทยมี “อธิปไตยไซเบอร์” ที่แท้จริงหรือไม่ ?

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางดิจิทัล (The Forth Industrial Revolution)ทั่วโลก จากปัจจัยทั้ง 4 ได้แก่

Social, Mobile, Cloud และ Big Data Analytics ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลก แบ่งได้เป็น 3 ระดับได้แก่ ระดับบุคคล-ครอบครัว ระดับองค์กร และระดับประเทศ ไปถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ (National Security) ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกราชและอธิปไตยในดินแดนในเชิงกายภาพ (Physical) แต่หลังจากระบบอินเทอร์เน็ตและสภาวะไซเบอร์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการติดต่อสื่อสารของคนไทยในหลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนความนิยมในการใช้งานสมาร์ทโฟน และโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนไทย ทำให้มีการเก็บข้อมูลคนไทยทั้งประเทศไว้ในระบบคลาวด์ โดยส่งผ่านจากทางสมาร์ทโฟนและโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฎการณ์มหกรรมการเก็บข้อมูลคนไทยเข้าสู่ระบบคลาวด์ของผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าว ทำให้มีการจัดเก็บเกิดการเก็บพฤติกรรมผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่องทั้งที่ผู้ใช้ทราบและไม่ทราบมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บข้อมูลตำแหน่งการใช้งาน , พฤติกรรมการค้นหาข้อมูล (Search Behavior/Search Keyword) พฤติกรรมการเข้าชมภาพและวิดีโอ ตลอดจนพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ เช่น การจองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบิน ทำให้ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ตกอยู่ในมือของผู้ให้บริการการค้นหาข้อมูล และ ผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคือปัญหา “Cyber Sovereignty” หรือ “อธิปไตยทางไซเบอร์” ของผู้คนในประเทศตลอดจนไปถึงปัญหาความมั่นคงของชาติ (National Security) ซึ่งคนไทยเองส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ากำลังถูกละเมิดในเรื่อง “Cyber Sovereignty” เนื่องจากปัญหาดังกล่าวถูกซ่อนอยู่ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและการใช้งานสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ให้บริการที่เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก มีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ และ สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการตลาดได้อย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการขาดรายได้ของรัฐบาลไทยจากการจัดเก็บภาษีจากยอดเงินในระดับหมื่นล้านบาท

ดังนั้นการใช้งานโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์จึงจำเป็นต้องใช้งานอย่าง "มีสติและ "รู้เท่าทัน" เรียกว่าเราจำเป็นต้องมี “Digital Literacy” ที่ดีในระดับหนึ่ง ไม่หลงในกระแสโซเชียล ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะรู้เท่าทันภัยมืดดังกล่าว แม้กระทั่งผู้ใหญ่อย่างเราท่านบางครั้งยังมีความคิดตามไปกับกระแสโซเชียลอันเชี่ยวกรากเลยด้วยซ้ำไป ประโยชน์จึงไปตกอยู่ในมือผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณาโปรโมทสินค้าและบริการ เราจึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจในสองปรากฎการณ์ดังกล่าวเพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อความเข้าใจที่เกิดจากการรับรู้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างไม่รู้ตัว

ปัญหาด้าน “Privacy” กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันที่กำลังคืบคลานเข้ามาแบบเงียบๆ และปัญหาด้าน “Privacy” จะหนักว่าปัญหาด้าน “Security” ในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องคอยหมั่นปรับปรุง “Digital Literacy” ของเราในการใช้งานโซเชียลมีเดีย และ สมาร์ทโฟนต่างๆที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวันให้ “รู้เท่าทัน” เทคโนโลยีที่กำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของมนุษย์โดยมนุษย์ด้วยกัน อีกทั้งในมุม “เศรษฐศาสตร์” และ ในมุม “ความมั่นคงของชาติ” ที่รัฐบาลก็จำเป็นต้อง “ตื่นตัว” และ “ระวัง” ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ประเทศไทยของเราเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ได้อย่าง มั่งคั่ง มั่นคง และ ยั่งยืน สมดังที่ตั้งใจไว้ อย่าลืมว่า “Thailand 4.0 จำเป็นต้อง Upgrade Digital Literacy ให้เป็น คนไทย 4.0 ด้วยเช่นกัน”