“หมู” ที่ไหนก็เหมือนกันจริงหรือ

“หมู” ที่ไหนก็เหมือนกันจริงหรือ

ผมสอนรายวิชา “เศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ” มากว่า 10 ปี หมดเวลาไปพอสมควรกับความพยายามพิสูจน์ให้นักศึกษาเห็นว่า

การค้าเสรี หรือ Free Trade นั้น ให้ประโยชน์กับประเทศมากกว่าการปิดกั้นสินค้าและบริการจากต่างประเทศ หลายครั้งยกให้ประเทศสหรัฐเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีนโยบายและสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ มีการค้าเสรีระหว่างกัน แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็กลับกลายเป็นประเทศที่มีนโยบาย กีดกันการค้าเสรี หรือ Protectionism แทน และกดดันให้ประเทศอื่นๆ นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์มองว่าประเทศควรนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศตัวเองผลิตสินค้าชนิดนั้นไม่ได้หรือผลิตได้ แต่มีต้นทุนและราคาสูงกว่าประเทศอื่น การนำเข้าจึงส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศ ได้ประโยชน์ในขณะที่ผู้ผลิตในประเทศ เสียประโยชน์ แต่เนื่องจากประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับนั้น สูงกว่าการเสียประโยชน์ของผู้ผลิตในประเทศ การค้าเสรีจึงส่งผลบวกต่อประเทศในภาพรวม สรุปแบบง่ายๆ ก็คือ ประเทศไทยควรนำเข้าสินค้าที่ประเทศอื่นผลิตได้ถูกกว่า และประเทศอื่นก็ควรนำเข้าสินค้าที่ประเทศไทยผลิตได้ถูกกว่า

ขอยกตัวอย่างเรื่องของ หมู ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน ท่านผู้อ่านอาจไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า หลายปีที่ผ่านมาประเทศสหรัฐเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อหมูเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ของโลก (สลับกับเยอรมนี) นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังสามารถผลิตหมูได้ในต้นทุนที่ต่ำมาก (ครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว) ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักการเศรษฐศาตร์แล้ว ถ้าประเทศไทยนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ผู้บริโภคไทยก็จะได้ประโยชน์จากการซื้อเนื้อ (และเครื่องใน) หมูในราคาที่ถูกลง ในขณะที่ผู้ผลิตหมูในประเทศไทยก็คงต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมากเพราะแข่งขันไม่ไหว แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยก็ยังได้ประโยชน์อยู่ดี

การประเมินเบื้องต้นลักษณะนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานหลายประการ หนึ่งในสมมติฐานที่สำคัญคือสินค้าและบริการที่แต่ละประเทศผลิตและจำหน่ายนั้น ต้องมีคุณภาพเหมือนกันทุกประการหมายความว่า ถ้า “หมูอเมริกา” ไม่แตกต่างจาก “หมูไทย” การนำเข้าก็จะส่งผลบวกต่อประเทศ อย่างไรก็ดี ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ระหว่างประเทศสหรัฐฯ และประเทศไทยคือ ความแตกต่างของเนื้อหมูจากสหรัฐและไทย นักวิชาการบางท่านอ้างถึงวิธีการเลี้ยงที่ต่างกัน ในขณะที่บางท่านระบุเรื่องของการใช้สารเร่งเนื้อแดงในสหรัฐ โดยประเด็นเรื่องคุณภาพเนื้อหมูที่แตกต่างกันนี้ทำให้เนื้อหมูราคาถูกจากสหรัฐฯ ยังไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้อย่างเสรี

หากสินค้ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ วิธีการประเมินประโยชน์ของการค้าเสรีก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วย การนำเข้าสินค้าที่แม้มีราคาถูกกว่าที่ผลิตได้เองในประเทศ ก็อาจไม่ส่งผลให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ดังที่หวังไว้ โดยเฉพาะหากผู้บริโภคไม่ทราบว่าเนื้อหมูมาจากประเทศใด ก็อาจเป็นการกระทบสิทธิของผู้บริโภคได้ด้วย วิธีการหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วนำมาใช้คือ ฉลากแหล่งกำเนิดสินค้า หรือCountry-of-origin label (COOL)ซึ่งเป็นฉลากที่ระบุว่าสินค้าชิ้นนี้ผลิตจากประเทศใด ทางสหภาพยุโรปดูจะซีเรียสเรี่องCOOLของอาหารมากกว่าทางสหรัฐ 

ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป “บังคับ” ให้ผู้ผลิตติดฉลากCOOLของเนื้อหมูโดยต้องระบุอย่างละเอียดว่า เนื้อหมูชิ้นหนึ่งผ่านกระบวนการจากประเทศใดมาแล้วบ้าง ก่อนจะถึงมือผู้บริโภคได้แก่ 1) เกิดที่ประเทศใด 2) ถูกเลี้ยงที่ประเทศใด และ 3) ถูกฆ่าที่ประเทศใด แต่สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ในอดีตก็มีการกำหนดให้ติดฉลากCOOLค่อนข้างละเอียดเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้ประเทศแคนาดาและเม็กซิโกไม่พอใจนัก เพราะทั้งแคนาดาและเม็กซิโกต่างก็ส่งออกเนื้อหมูไปสหรัฐฯ และฉลากลักษณะนี้ทำให้เนื้อหมูจากสหรัฐฯ ได้เปรียบกว่าหมูจากประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องนี้ทำให้ทั้งสองประเทศดังกล่าวต้องไปฟ้ององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เรื่องยืดยาวมาหลายปี จนเมื่อ 2 ปี ก่อน ดับบลิวทีโอตัดสินให้สหรัฐแพ้ สหรัฐจึงจำเป็นต้องยกเลิกฉลากแหล่งกำหนดสินค้าของเนื้อหมูไปในที่สุด

ในส่วนของไทย มีการเสนอเรื่องของ “ฉลากแหล่งกำหนดสินค้า” เช่นกัน โดยหากออกมาเป็นกฎระเบียบ ต่อไปผู้บริโภคไทยก็จะได้เห็นฉลากเช่น “เนื้อหมูจากประเทศ...” เป็นต้น ฉลากลักษณะนี้มีผลกระทบกับผู้ผลิตโดยตรงในแง่ของต้นทุนและอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้วย หาก อุปสงค์หรือ ความเต็มใจในการจ่ายของผู้บริโภคได้รับจากอิทธิพลจากแหล่งกำเนิดสินค้า เช่นว่าผู้บริโภคมีความเต็มใจในการจ่ายที่แตกต่างกันระหว่าง “แอปเปิ้ลอเมริกา” “แอปเปิ้ลญี่ปุ่น” และ “แอปเปิ้ลจีน” เป็นต้น มีการศึกษาวิจัยหัวข้อลักษณะนี้ในสหภาพยุโรปพอสมควร โดยผลการศึกษาวิจัยระบุว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในยุโรปต้องการให้มีการเปิดเผยแหล่งกำเนิดสินค้า และฉลากCOOLส่งผลต่อความเต็มใจในการจ่ายอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างเพียงพอ ตัวผมเองทำการศึกษาวิจัยเรื่อง ความเต็มใจในการจ่ายสินค้าที่มาจาก “แหล่งกำเนิดสินค้า” ที่แตกต่างกัน แต่งานวิจัยของผมเน้นไปที่สินค้าอุปโภคเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เป็นต้น แต่ไม่ได้เน้นที่อาหารโดยตรง

ประเด็นที่ทำให้เรื่องนี้ซับซ้อนขึ้นไปอีกคือ แม้ว่าจะมีการเปิดเผยว่าอาหารนั้นมาจากประเทศใด แต่หากผู้บริโภคไม่ทราบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงด้านคุณภาพสินค้า การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ “แหล่งกำเนิดสินค้า” ก็อาจไม่มีความหมายและไม่ช่วยเพิ่มสวัสดิการของผู้บริโภคเช่น แม้ว่าจะมีการปิดฉลากว่าเป็น “หมูไทย” หรือ “หมูอเมริกา” แต่ถ้าผู้บริโภคไม่ทราบถึงคุณภาพที่แตกต่างกัน อุปสงค์หรือความเต็มใจในการจ่ายก็ไม่สะท้อนความเป็นจริง 

นอกจากนี้ การซื้อขายอาหารในประเทศไทยจำนวนมากยังคงเกิดขึ้นที่ตลาดสดแบบดั้งเดิม ดังนั้น เนื้อสัตว์จะไม่ได้ถูกบรรจุในรูปแบบที่สามารถแสดง แหล่งกำเนิดสินค้า ได้ และยังไม่รวมกรณีของเนื้อสัตว์ที่ขายให้แก่ร้านอาหารที่ผู้บริโภคไม่มีทางรู้เลยว่ามีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด กรณีต่างๆ เหล่านี้ยิ่งส่งผลให้การประเมินเรื่องผลได้ผลเสียไม่ง่ายอย่างที่คิด

ขอเรียกร้องให้มีการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบเกี่ยวกับ ผลกระทบต่อสุขภาพจากคุณภาพเนื้อหมูที่แตกต่างกัน ความเต็มใจในการจ่ายเนื้อหมูจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน รวมทั้งความรู้ของผู้บริโภคไทยต่อคุณภาพเนื้อหมูที่มาจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน ก่อนการออกกฎระเบียบใดๆ ทั้งนี้เพื่อสวัสดิภาพของผู้บริโภคไทยในระยะยาวครับ

โดย... 

รศ. ดร. ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ

ภาควิชาบริหารธุรกิจ

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

[email protected]