สงครามค่าธรรมเนียม 0% ใครจะอยู่รอด

สงครามค่าธรรมเนียม 0% ใครจะอยู่รอด

หนึ่งใน Pain Point สำคัญของอุตสาหกรรมการเงินที่ทำให้เกิดฟินเทคหน้าใหม่เข้ามา Disrupt นั่นคือเรื่องของ “ค่าธรรมเนียม” 

การให้บริการที่ถูกมองว่าเรียกเก็บจากผู้บริโภคที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจธนาคาร ค้าหลักทรัพย์ ซื้อขายกองทุน ฯลฯ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทนการทำงานของคนรวมถึงการเปิดสาขาที่เป็น Physical เป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ฟินเทคสามารถแข่งขันในเรื่องค่าธรรมเนียมกับสถาบันการเงินดั้งเดิมได้

แต่ดูเหมือนว่าจะแข่งขันกันที่ลดค่าธรรมเนียมอาจจะยังไม่พอในการแข่งขันกับผู้ที่อยู่ในธุรกิจนี้มาก่อน ระยะหลังมานี้ฟินเทคบางรายกระโดดเข้ามาในสมรภูมิฟรีค่าธรรมเนียมหรือ 0% Fee อย่างเช่นBamboo ซึ่งเป็นฟินเทคด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ประกาศว่าจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมจากการซื้อขาย ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วสามารถระดมทุนเพิ่มเติมในระดับซีรี่เอด้วยมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนในเอเชียก็มี 8 Securities ฟินเทคสัญชาติฮ่องกงที่ฟรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อเมริกา ฮ่องกงและจีน  ส่วนฟินเทคด้าน Wealth Management ก็มี Robo Advisor หลายรายที่ฟรีค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุน

ภาคธุรกิจธนาคารก็เช่นกัน ฟินเทคหลายรายได้พัฒนาแอพลิเคชั่นของตัวเองขึ้นมาเป็นธนาคารที่ไม่มีพนักงานและไม่มีสาขา อย่างเช่นChime ฟินเทคสัญชาติอเมริกาซึ่งได้รับเงินระดมทุนกว่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมการให้บริการธุรกรรมการเงิน เช่น โอนเงิน 

เมื่อตั้งใจจะ Disrupt สถาบันการเงินดั้งเดิมให้ขาด เราน่าจะได้เห็นกลยุทธ์การไม่เก็บค่าธรรมเนียมของฟินเทคเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะดึงผู้ใช้งานเข้ามาในระบบให้มากที่สุด โดยยอมที่จะเฉือนเนื้อตัวเอง (แต่ได้รับเงินทุนจากวีซีมาช่วยโปะให้) กลยุทธ์นี้ส่วนตัวอยากจะเรียกว่าการ “จับลูกค้าเป็นตัวประกัน” ไม่ต่างอะไรกับ Facebook ที่ปล่อยให้เล่นฟรีมาหลายปีก่อนจะค่อยๆหาทางเก็บเงินทีละเล็กทีละน้อย แม้ช่วงหลังจะถูกก่นด่าบ่อยขึ้น แต่ลูกค้าตกอยู่ในสภาวะจำยอมไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตามกลยุทธ์การเฉือนเนื้อตัวเองเพื่อให้ได้ฐานลูกค้าเข้ามาใช้งาน ปฎิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมี “ผู้เสียชีวิต” ในสงครามอย่างแน่นอน ถ้าหากกลยุทธ์ดังกล่าวประสบความสำเร็จ สถาบันการเงินดั้งเดิมที่ไม่ปรับตัวก็ยากที่จะอยู่รอดได้ แต่ถ้าหน้าตักของฟินเทค (เอาจิงคือหน้าตักของวีซีที่ใส่เงินลงทุนให้) มีเงินทุนที่ไม่เพียงพอที่จะใช้กยุทธ์ฟรีค่าธรรมเนียม ผู้ที่เสียชีวิตไปก็จะเป็นฟินเทคเอง 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสถาบันการเงินดั้งเดิมจะเป็นฝ่ายยอมให้ฟินเทคใช้กลยุทธ์ฟรีค่าธรรมเนียมเข้ามาสู้แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะยักษ์ใหญ่หลายรายไม่ว่าจะเป็น Goldman Sack,Morgan Stanley ต่างพัฒนาธนาคารออนไลน์ของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน แม้ว่าจะต้องยอมเสียรายได้หลักนั่นคือค่าธรรมเนียมไป แต่ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็รู้ดีว่าหากไม่ปรับตัวก็มีโอกาสจะเสียท่าให้กับฟินเทคในอนาคต หรือไม่ก็ใช้กลยุทธ์เข้าซื้อกิจการฟินเทคเข้ามาเสียเลย 

ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในสมรภูมิลดค่าธรรมเนียม 0% ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคงเป็นผู้ใช้บริการที่จะไม่ถูกเอาเปรียบจากสถาบันการเงินยุคเก่าอีกต่อไป แถมยังเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ต้องบอกว่าเทคโนโลยีเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจและการเงินจริงๆครับ