รัก น่านนานๆ

รัก น่านนานๆ

ท่านผู้อ่านเคยได้ยินคำว่า “น่านแซนด์บอกซ์” ไหมคะ น่านแซนด์บอกซ์คือ เขตทดลองพิเศษ หรือจะเรียกอย่างสมัยใหม่ว่า

 พื้นที่ทดลองนวัตกรรม เป็นการทดลองรูปแบบของการจัดการป่าและพื้นที่ทำกินในจ.น่าน ร่วมกันระหว่างชุมชน รัฐ และเอกชน โดยการรักษ์ป่าและรักษ์คนไปพร้อมๆ กันนี้จะต้องมีกติกาที่รับได้ร่วมกันโดยให้ประชาชนร่วมกันคืน (ปลูก) ป่าพร้อมกับการทำเกษตรวิถีใหม่ที่มูลค่าสูงกว่าข้าวโพด ทำให้ป่าอยู่ได้คนอยู่ดี แนวคิดนี้ผลักดันโดย เจ้าสัวบัณฑูร ล่ำซำ ให้รัฐมีข้อตกลงและกติกาสำหรับทั้งจังหวัดเพื่อความเท่าเทียมทั่วหน้า หลังจากนั้นจึงจะตามด้วยระบบการจัดการร่วมเพื่อการอนุรักษ์ป่าและส่งเสริมวิถีเกษตรยั่งยืน

สาเหตุที่ต้องมีน่านแซนด์บอกซ์ เนื่องจากน่านเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำสายหลักที่เติมน้ำ (ร้อยละ 40) ให้กับเส้นเลือดใหญ่ของไทย(แม่น้ำเจ้าพระยา) แต่น่านนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และภูเขา มีพื้นที่เกษตรเพียง 12% ส่วนใหญ่ของเกษตรกรไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน แม้จะได้ใช้เพื่อทำกินมานาน ในพื้นที่ที่รัฐได้ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ในภายหลัง ความจำเป็นด้านการทำกินได้ทำให้เกษตรกรน่าน เข้าไปใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (ซึ่งคิดเป็น 40% ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด) หากใครเดินทางไปจ"น่านด้วยเครื่องบินก็คงจะเห็นภาพภูเขาหัวโล้นเต็มไปหมด อันสืบเนื่องมาจากการปลูกข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกง่าย มีสินเชื่อ ตลาดรองรับอย่างเป็นระบบ  มีเทคโนโลยีรองรับซึ่งเป็นเครื่องทุ่นแรงเอื้อกับการขยายพื้นที่ คำถามก็คือว่า การเกษตรแบบที่ทำอยู่นี้จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ และมีความยั่งยืนไปอีกเท่าใด ซึ่งหากได้พิจารณาต้นทุนสังคมจากการสูญเสียป่าและระบบนิเวศน์ โดยการปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชมูลค่าต่ำ สร้างปัญหาหมอกควัน จะเห็นได้ชัดว่า ย่อมไม่คุ้มค่าและไม่ยั่งยืน อีกทั้งมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

ในขณะนี้ก้าวสำคัญที่ต้องข้ามให้ได้คือ การเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคีสำคัญภายใต้ร่มกติกาเดียวกัน เป็นพันธะสัญญากับประชาชนให้มีความมั่นใจในสิทธิการใช้ที่ดินและมีความมั่นคงในการดำรงชีพ ก้าวต่อไปก็คือ การพัฒนาน่านโมเดล ซึ่งน่าจะมีรูปแบบการจัดการที่หลากหลาย ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยวราคาต่ำเช่น ข้าวโพด แต่เป็นพืชราคาสูงเช่น กาแฟที่ขึ้นใต้ต้นไม้ใหญ่หรือต้นหม่อน เกิดไร่นาสวนผสมที่สร้างรายได้สูง รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ กิจกรรมเกษตรในน่าน โมเดลก็จะมีองค์ประกอบหลากหลาย สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความเป็นไปได้ของตลาด แต่ทั้งหมดนี้การพัฒนา “น่านโมเดล” ต้องอาศัยการรวบรวม ถอดบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวของการพัฒนาเกษตรที่สูงเพื่อให้ได้ต้นแบบการพัฒนา

ก้าวใหญ่ๆ ถัดไปคือ หาเงินมาสนับสนุนเกษตรกรที่ร่วมโครงการคืนป่าแต่รายได้ครัวเรือนลดลง ในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งสามารถหาได้จากกองทุน Red+ ซึ่งสนับสนุนการปลูกป่าเพื่อลดคาร์บอน อีกส่วนหนึ่งอาจมาจากการจัดโครงการเพื่อสังคมประเภทการแทนคุณสิ่งแวดล้อม (Payment for ecosystem services) แต่ในระยะยาวจะมีทางเลือกอื่นๆ อะไรบ้างสำหรับน่านนอกจากการเกษตร?

เหตุใดน่านต้องมองหาทางเลือกอื่น ในยุคที่เทคโนโลยีป่วนโลก (Disruptive technology) เป็นที่คาดเดาได้ยากว่าอะไรจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ยกตัวอย่างการประมงชายฝั่ง และการประมงน้ำลึก กำลังจะถูกทดแทนโดยการประมงหุ่นยนต์ซึ่งประเทศนอร์เวย์ได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรรมจีนสร้างสถานีขนาดยักษ์ที่ประกอบด้วยหุ่นยนต์ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล ในมหาสมุทรแทนการประมงชายฝั่งซึ่งจะกลายเป็นแหล่งสร้างอาหารใหม่ให้กับโลกต่อไป และเป็นคู่แข่งของประมงเพาะเลี้ยงชายฝั่งที่ใช้แรงงานมาก

ในยุคเทคโนโลยีป่วนโลก น่านต้องถามตัวเองว่าอนาคตของน่านหรือน่าน 4.0 จะเป็นอย่างไร น่านต้องดูทางเลือกอนาคตที่ดีในระยะยาวพร้อมๆ กับต้องลดความเสี่ยงจากโลกาภิวัตน์คืออะไร เพราะเส้นทางที่เราเลือกมาต่อเนื่องหลายศตวรรษอาจจะไม่ใช่เส้นทางที่แจ่มใสในอนาคตก็ได้

 น่านอาจต้องอาศัยการท่องเที่ยวมาแก้ไขปัญหาที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ที่จะสร้างงานให้คนรุ่นใหม่ ช่วยดึงดูดหนุ่มสาวลงจากภูเขามาหาอนาคตใหม่ แต่ก็ยังไม่ห่างบ้านมากนักและไม่ต้องไปถึงกรุงเทพฯ เข้ามาสู่โอกาสใหม่ เกิดมุมมองใหม่ที่ไม่ใช่การขยายพื้นที่เพาะปลูกแต่ถ่ายเดียว ในบางพื้นที่หากสามารถปลูกต้นพญาเสือโคร่ง (ซากุระเมืองไทย) หรือต้นไฟเดือน 5  (ต้นเมเปิ้ล) ในพื้นที่ที่ระดับต่ำลงมาในที่ไม่อำนวยกับการเกษตรก็ควรปลูกดอกเสี้ยวขาว ซึ่งบานในเดือน ก.พ.ภายใน 5 ปี ก็เริ่มทำการท่องเที่ยวได้แล้ว การท่องเที่ยวเป็นการนำตลาดมาถึงท้องถิ่น แต่ก็เหมือนเป็นโอกาสทั้งหลายที่อาจมีวิกฤตตามมาคือ เกิดความเหลื่อมล้ำ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมและทดลองจัดการในระดับชุมชนเสียตั้งแต่ต้น

โอกาสด้านการท่องเที่ยวที่น่านเป็นอย่างไร?

จังหวัดน่านมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายมาก มีอุทยานแห่งชาติถึง 6 แห่ง มีชาติพันธุ์หลากหลายทั้งไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ ม้ง ปกาเกอะญอ ฯลฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มวัยทองและเป็นกลุ่มดูดาวกระซิบรักที่ดอยเสมอดาว ส่วนคอกาแฟก็สามารถทำ Coffee Journey ไปนอน เก็บผลผลิต ผสมกาแฟเองที่บ้านมณีพฤกษ์

แต่เมื่อมาดูดัชนีศักยภาพการแข่งขันของจังหวัดท่องเที่ยวที่สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะเป็นผู้จัดทำโดย นายณัฐพล อนันต์ธนสาร และนางสาววรัญญา บุตรบุรี พบว่า น่านมีศักยภาพโดยรวมในระดับประเทศอยู่ในลำดับที่ 55 สูงเป็นลำดับ 4 ของภาคเหนือตอนบนสูงกว่าลำพูน แพร่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา ดัชนีศักยภาพนี้ประกอบด้วยดัชนีย่อย 2 ส่วนคือ หนึ่งดัชนีเจ้าบ้านซึ่งรวบรวมตัวแปรกว่า 59 ตัวชี้วัดซึ่งเป็นตัวแปรด้านซัพพลาย สอง ดัชนีผู้มาเยือน ซึ่งประกอบด้วย ตัวแปรด้านดีมานด์ 14 ตัวชี้วัด ผลการตรวจสอบดัชนีย่อยทั้งหลายพบว่า แม้น่านจะมีลำดับความน่าดึงดูดใจของแหล่งท่องเที่ยวสูงถึงลำดับที่ 30 ของประเทศ แต่เนื่องจากเป็นจังหวัดที่เข้าถึงยาก ยกเว้นการเข้าโดยอาศัยอากาศยาน จึงมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่มากนักทำให้ดัชนีผู้มาเยือนตกไปอยู่ในลำดับที่ 66 ในขณะที่ดัชนีเจ้าบ้านอยู่ในลำดับที่ 40 หมายความว่า น่านมีความสามารถที่จะพัฒนาท่องเที่ยวในจังหวัดของตนให้เป็นทางเลือกใหม่ในอนาคตได้ ถ้าได้รับแรงสนับสนุนเพื่อพัฒนาซัพพลายทั้งจากภาครัฐและเอกชน

ถ้าท่านใดสนใจคิดไปเที่ยวน่าน ก้าวแรกก็ไปหาหนังสือสิเนหามนตาแห่งล้านนา ของเจ้าสัวบัณฑูรมาอ่านก่อน อาจเกิดแรงบันดาลใจที่จะ...รักน่านนานนาน