อินเดียกับบทบาททางทะเลที่ไทยควรจับตามอง

อินเดียกับบทบาททางทะเลที่ไทยควรจับตามอง

อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจระดับภูมิภาค ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเพิ่มบทบาทในมหาสมุทรอินเดีย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี จึงขอประมวลข้อมูลเบื้องต้นด้านพัฒนาการเกี่ยวกับเศรษฐกิจภาคทะเลของอินเดีย เพื่อให้คนไทยได้ทำความรู้จักอินเดียในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนี้

บทบาททางทะเลของอินเดีย

อินเดียมีชายฝั่งยาวประมาณ 7,500 กิโลเมตร มีพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) สำหรับประกอบธุรกิจทางทะเลถึง 2.4 ล้านตารางกิโลเมตรในมหาสมุทรอินเดีย และมีกองกำลังทางเรือที่เข้มแข็ง และในระยะหลังยิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือ และกองกำลังยามฝั่งอินเดีย (Indian Coast Guard) ยิ่งขึ้น อินเดียจึงเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเชื่อมโยงกับทะเลมาเนิ่นนาน และมีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเล

ในยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรีโมดี อินเดียเริ่มส่งสัญญาณการให้ความสำคัญต่อประเด็นทางทะเลอย่างเด่นชัด นับตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มต้นจากการที่นายกรัฐมนตรีอินเดียเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านทางทะเลอย่างเซเชลส์และมอริเชียส เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลในมหาสมุทรอินเดีย นำมาสู่การประกาศวิสัยทัศน์ของอินเดียในการส่งเสริมความมั่นคงและการเติบโตทางเศรษฐกิจในมหาสมุทรอินเดีย โดยนายกรัฐมนตรีโมดีเรียกวิสัยทัศน์ดังกล่าวว่า SAGAR ซึ่งมีความหมายในภาษาฮินดีว่า มหาสมุทร ซึ่งคือคำเดียวกับคำว่าสาคร และเป็นอักษรย่อของ “Security and Growth for All in the Region” โดยมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมทั้งมิติด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ และภายในปีเดียวกันรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโมดีได้ประกาศโครงการ Sagarmala Port Development Project หรือ สาครมาลา ซึ่งมีความหมายว่ามาลัยแห่งมหาสมุทร เพื่อพัฒนาท่าเรือต่างๆ ตลอดแนวเส้นทางที่อินเดียจะสามารถใช้เดินเรือประมาณ 1.45 หมื่นกิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดค่าใช้จ่ายการขนส่งภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันการส่งออก โดยรัฐบาลอินเดียย้ำว่าโครงการพัฒนาท่าเรือนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำวิสัยทัศน์ SAGAR มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

อินเดียกับเศรษฐกิจภาคทะเล

การประกาศวิสัยทัศน์ SAGAR ทำให้หน่วยงานต่างๆ ของอินเดียตื่นตัวในการจัดกิจกรรม หรือศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภาคทะเล โดยสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งอินเดีย (Federation of Indian Chambers of Commerce and Industry-FICCI) ได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นเพื่อศึกษาข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับศักยภาพเศรษฐกิจภาคทะเลของอินเดีย รวมทั้งวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ และแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่างๆ โดยจัดทำเอกสาร “Blue Economy : Vision 2025 : Harnessing Business Potential for India an International Partners” ตีพิมพ์เมื่อเดือน เม.ย.2560 

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวได้ระบุสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพและยังไม่ได้รับการพัฒนาของอินเดีย 10 สาขา คือ 1.ประมงน้ำเค็ม 2.เทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล 3.เหมืองแร่นอกชายฝั่งและทะเลลึก 4.การท่องเที่ยวทางทะเล 5.การเดินเรือ ท่าเรือ และโลจิสติกส์ทางทะเล 6.การก่อสร้างในทะเล 7.พลังงานทดแทนทางทะเล 8.การผลิตทางทะเล 9.การค้าและ ICT ทางทะเล และ 10.การศึกษาและวิจัยทางทะเล (Marine Education and Research) นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังได้วิเคราะห์ว่าสาขาเศรษฐกิจภาคทะเลของไทยที่ฝ่ายอินเดียมองเห็นศักยภาพคือด้านท่าเรือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว การประมง การแปรรูปอาหาร และพลังงานทดแทนจากลม โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวทางทะเลเป็นสำคัญ จึงทำให้ไทยมีท่าเรือและระบบการเดินทางทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งไทยยังให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านโมเดลการทำธุรกิจภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลระหว่างไทย-อินเดีย

นาย Ajit Doval ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของนายกรัฐมนตรีอินเดีย เคยแจ้งว่าไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านทางทะเลของอินเดีย ประเทศไทยจึงควรเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลกับอินเดียให้มากขึ้น ทั้งในด้านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงและกองทัพเรือ ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมท่าเรือและการขนส่งสินค้าทางเรือ หรือแม้แต่ความร่วมมือทางวิชาการด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและการประมง เพราะเมื่อปี 2559 นายกรัฐมนตรีโมดีเองยังได้เคยปรารภว่าประสงค์จะดูแนวทางตัวอย่างในการพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของอินเดียจาก “พัทยาของไทย บาหลีของอินโดนีเซีย และฮาวายของสหรัฐ” อีกด้วย 

ไทยและอินเดียยังมีจุดร่วมอีกมากที่จะสามารถส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นต่อไปได้ ในยุคที่อำนาจการต่อรองได้เปลี่ยนจากประเทศแถบตะวันตกมาสู่ดินแดนทางตะวันออกแล้ว ต่อไปนี้อินเดียจะไม่ใช่ประเทศที่น่ากลัวสำหรับชาวไทยอีกต่อไป แต่กลับเป็นโอกาสมหาศาลที่รอการค้นพบ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ก็พร้อมเสมอที่จะส่งเสริมให้ชาวไทยหันมา “มองอินเดียใหม่” และใช้ประโยชน์จากตลาดใหม่แห่งนี้ได้อย่างทันท่วงที ไม่มีการตกขบวนรถไฟ

 

โดย...

เชษฐ์ธิดา กิตติ์ชัยวัชร์

เลขานุการโท

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี