ปฏิรูปวงการสงฆ์ สกัดเงินผ่านมือพระ

ปฏิรูปวงการสงฆ์ สกัดเงินผ่านมือพระ

บทเรียนสำคัญที่ได้จากการดำเนินคดี “อดีตพระผู้ใหญ่” รอบนี้ ก็คือปัญหา “เม็ดเงินที่ผ่านมือพระ” ซึ่งทับซ้อนอย่างแยกไม่ออกกับ “ศาสนสมบัติของวัด”

ตัวอย่างที่อธิบายปัญหานี้อย่างแจ่มชัดก็คือ การพบเงินในบัญชีส่วนตัวของ “อดีตพระพรหมสิทธิ” เจ้าอาวาสวัดสระเกศ มากกว่า 130 ล้านบาท หรือการที่ “อดีตพระพรหมเมธี” ซึ่งมีข่าวถูกรวบตัวได้ที่เยอรมนี มีเงินมหาศาลไปซื้อที่ดินในลาว

ที่ผ่านมา คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็เคยสรุปปัญหาหลักๆ ในวงการสงฆ์เอาไว้ 4 ประการ หนึ่งในนั้นก็คือการทับซ้อนกันระหว่าง “ทรัพย์สินส่วนตัวของพระ” กับ “ศาสนสมบัติของวัด”

ล่าสุด ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสงฆ์ และกฎหมายการเงินการคลัง เขียนบทความเรื่อง “การแก้ปัญหาในเรื่องทรัพย์สินของพระสงฆ์” โดยเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1623 ที่ยอมให้พระภิกษุมีทรัพย์สินได้ แถมยังทำพินัยกรรมหรือจำหน่ายจ่ายโอนให้ผู้อื่นในระหว่างที่มีชีวิตได้

เนื้อหาของ ปพพ.มาตรา 1623 เขียนเอาไว้แบบนี้ “ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม”

อาจารย์ปรีชา เห็นว่า การที่กฎหมายรับรองการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของภิกษุเอาไว้แบบนี้ จริงๆ แล้วขัดต่อพระธรรมวินัยในสิกขาบทที่ห้ามภิกษุ “รับเอง ใช้ให้รับทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน ที่เขาเก็บไว้เพื่อตน” หากภิกษุใดล่วงละเมิดให้ถือเป็น “อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์”

ฉะนั้น ปพพ.มาตรา 1623 นี้จึงควรถูกยกเลิกไป หรือบัญญัติความใหม่ให้มีสาระสำคัญดังนี้ “ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น และนำเข้า ‘บัญชีธรรม’ ทั้งหมด ถ้าพระภิกษุมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย ให้ไวยาวัจกรเป็นผู้จัดถวายให้ตามความจำเป็น”

คำว่า “บัญชีธรรม” ก็คือบัญชีรายรับรายจ่ายของวัด ซึ่งมหาเถรสมาคมก็ควรกำหนดรูปแบบออกมาให้ชัดเจน      ขณะที่ ไวยาวัจกรที่ตามกฎหมายคณะสงฆ์ให้มีฐานะเป็น เจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญานั้น ก็ต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ และมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่ให้เจ้าอาวาสตั้งใครก็ได้ และอยู่ตำแหน่งไปจนกว่าจะตายจากกันเหมือนปัจจุบัน