Learning Machine ไม่ใช่เพียงแค่ Machine Learning

Learning Machine ไม่ใช่เพียงแค่ Machine Learning

ในยุคที่กำลังก้าวเข้าสู่ความเป็น4.0 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกำลังจะเกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับคนหรือมนุษย์ก็กำลังจะเกิดขึ้น เริ่มจากอายุขัยของคนที่ยาวนานขึ้น มีข้อเขียนของ WEF ที่ระบุว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนจะเพิ่มขึ้น 2 ปีในทุกๆ 10 ปี ในบางประเทศเช่น ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมันนี อายุขัยสูงสุดของสุภาพสตรีนั้นใกล้กับเลข 90 มากขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนของสุภาพบุรุษก็จะอยู่ที่ประมาณ 80 สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลของ Euromonitor ก็ระบุว่าอายุขัยสูงสุดของหญิงไทยก็เข้าใกล้ 80 มากขึ้น ส่วนของชายไทยก็เริ่มเลย 70 ไปอีกแล้ว

การที่อายุขัยของคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อหลายๆ เรื่อง และเรื่องที่สำคัญ แต่มักจะไม่ได้ตระหนักกัน คือเรื่องการเรียนรู้ของคน โดยในอดีตนั้นเราจะแบ่งช่วงชีวิตเราออกเป็น 3 ช่วงหลักๆ คือ ช่วงแรกตั้งแต่แรกเกิดจนเรียนจบที่อายุ 20 กว่าๆ จากนั้นก็ทำงานไปอีก 30-40 ปี และเมื่อถึงอายุช่วง 60 กว่าๆ ก็เกษียณ แต่ในยุค 4.0 นั้น ความรู้ที่เราได้จากการเรียนหนังสือจนถึงช่วงอายุ 20 กว่าๆ นั้นไม่เพียงพอสำหรับการให้เราดำรงชีวิตได้อย่างทันยุคและมีความสุขไปจนถึงอายุ 70-80

ในยุคที่เรากำลังก้าวสู่ความเป็น 4.0 นั้น เราจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการเรียนรู้เสียใหม่ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลากลายเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับคนยุค 4.0 การที่มนุษย์เราจะอยู่รอดอย่างสง่างามในยุคของ Machine Learning นั้น เราจะต้องแปลงตัวเราเองให้เป็น Learning Machine หรือเป็นเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้

มีเอกสารจาก WEF ที่ระบุว่าคนเราจะต้องมี Learning Agility หรือความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ ซึ่งผู้เขียนได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็นความสามารถของคนในการที่จะเปิดรับ และเรียนรู้ในวิธีคิดและความรู้ใหม่ๆ โดยจะต้องยอมลดอัตตาและความเชื่อมั่น ยึดมั่นที่ตนเองมีอยู่ รวมถึงต้องถ่อมตนเพียงพอที่จะยอมรับมีคนอื่นที่มีความรู้ และสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่าเรา การที่จะเรียนรู้ได้อย่างยืดหยุ่นและต่อเนื่องนั้น จะมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงอยู่สองประการด้วยกัน

เรื่องแรกคืออย่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากเกินไปนัก เพื่อไม่จำกัดความรอบรู้ ความสนใจของตนเองเฉพาะเรื่องๆ เดียว เพราะการทำงานในอนาคตนั้น การเป็นผู้เชี่ยวชาญเพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นจะไม่เพียงพอที่ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นควรจะพร้อมที่จะเรียนรู้ในเรื่องที่หลากหลาย

เรื่องที่สองคือพร้อมที่จะล้มเหลวและเรียนรู้จากความล้มเหลว การได้เรียนรู้จากความล้มเหลวในปัจจุบัน คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จในอนาคต เป็นที่ยอมรับกันว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้มากที่สุดจากการลงมือทำเอง และถ้าเกิดล้มเหลว และสามารถเรียนรู้จากความล้มเหลวดังกล่าวได้ จะยิ่งทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นมากขึ้นไปอีก ซึ่งความยากจริงๆ อยู่ที่บรรยากาศ วัฒนธรรม กฎ ระเบียบในการทำงานในองค์กรในประเทศไทย พร้อมที่จะยอมรับ เปิดรับต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้น และมีกลไกให้เกิดการเรียนรู้จากความล้มเหลวดังกล่าว

ยิ่งในยุค 4.0 ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมแล้ว นวัตกรรมจะเกิดขึ้นยากถ้าไม่เปิดโอกาสให้คนได้ทดลอง และจากการทดลองก็มีโอกาสที่จะล้มเหลว ดังนั้นถ้าองค์กรไม่พร้อม ที่จะยอมรับต่อความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น การเรียนรู้ก็จะไม่เกิด แถมในหลายๆ องค์กร (เช่น ในองค์กรด้านราชการ) ไม่ใช่เพียงแค่ไม่ยอมรับต่อความล้มเหลวเท่านั้น แต่เมื่อล้มเหลวแล้วยังถูกฟ้องร้องอีกด้วย แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น บุคลากรองค์กรที่ไหนที่จะกล้าคิดต่าง กล้าทดลอง และกล้าที่จะล้มเหลว

สรุปคือไม่ว่าเราจะทำงานในองค์กรแบบใด หรือ อยู่ในสภาวะสังคมแบบใด เราจะต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และยิ่งถ้าสามารถแปลงตนเองให้เป็นเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ (Learning Machine) ได้ จะยิ่งทำให้เราพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุด