“ไทย – เบลเยียม จับมือ ร่วมเป็นหุ้นส่วนความสัมพันธ์ขับเคลื่

“ไทย – เบลเยียม จับมือ  ร่วมเป็นหุ้นส่วนความสัมพันธ์ขับเคลื่

“เบลเยียมมีจำนวนประชากรน้อยกว่าไทยถึง 6 เท่า ขนาดประเทศเล็กกว่าประเทศไทย 7 เท่า แต่มีมูลค่า GDP เท่ากับไทย

แสดงให้เห็นถึงการใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ” ส่วนหนึ่งของคำกล่าวเปิดงานประชุมวิชาการ Thailand – Belgium Innovation Partnership for the Future โดยนายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์

“ไทย – เบลเยียม จับมือ  ร่วมเป็นหุ้นส่วนความสัมพันธ์ขับเคลื่

ในบทความนี้ ทีมงาน Thaieurope.net จะเก็บตกเกร็ดต่างๆ จากงานประชุมวิชาการในครั้งนี้ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกันจัดขึ้นกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 29 – 30 มี.ค.2561 เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ ไทย - เบลเยียม ที่โรงแรมย่านอโศก ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก ร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศผ่านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม

รัฐบาลไทยเร่งขับเคลื่อนประเทศผ่านการส่งเสริมนวัตกรรม

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เร่งปรับนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อหลุดพ้นจากกับดักความยากจน และพัฒนาประเทศในระยะยาว ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) โดยมีประเด็นสำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในช่วงการบรรยายพิเศษว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นการเฉพาะ (ยุทธศาสตร์ที่ 8) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสาขา STEM (Science | Technology | Engineering | Mathematics) และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาความคิด

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับการบรรยายของนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มองว่า การพัฒนาทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยต้องมุ่งเน้นพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการปฏิบัติตามหลักการเป็นขั้นตอน เพราะนวัตกรรมไม่ได้จำกัดเฉพาะนวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ (product innovation) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงนวัตกรรมของกระบวนการ (process innovation) เช่น การพัฒนากระบวนการที่ช่วยยืดอายุการใช้งานเครื่องจักรได้ถึง 30-40 ปี รวมถึงนวัตกรรมในเชิงธุรกิจ (business innovation) ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิตัลในการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น ธุรกิจบริการที่อาศัยเทคโนโลยีสื่อสารใน smartphone ในการติดต่อสั่งงาน เป็นต้น

แนวทางการพัฒนานวัตกรรม: บทเรียนจากเบลเยียม

การพัฒนาบุคลากรและนักวิจัยในระดับอุดมศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ ในการพัฒนานวัตกรรมของอียู โดยเฉพาะเบลเยียมที่มีอัตราการการต่อยอดงานวิจัยในรูปแบบของบริษัทเชิงพาณิชย์ (Spin-offs) ถึง 3.8% ต่อปี มากกว่าค่าเฉลี่ยของอียูที่ 1.7% ต่อปี โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอย่าง KU Leuven และ Ghent เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

นาย Paul Van Dun จากหน่วยงานด้าน R&D ของมหาวิทยาลัย KU Leuven ซึ่งถูกจัดอันดับโดย Reuters ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีการพัฒนาด้านนวัตกรรมโดดเด่นมากที่สุดในยุโรป ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ตลอด 45 ปี ที่หน่วยงาน R&D ของมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมา เจ้าของธุรกิจด้านเทคโนโลยีของเบลเยียมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย

ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากนโยบายที่สำคัญของมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจหรือการผลิตเชิงพาณิชย์ (Commercialization) จากเดิมที่เน้นเพียงการเรียนการสอนภายในห้องเรียนและงานวิจัยทั่วไปเท่านั้น

นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญคือ การสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนและบ่มเพาะแนวคิดให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

จากการอภิปรายกลุ่มในหัวข้อ “R&D in private sector: Lesson learned from Belgian Business in Thailand” ซึ่งมีผู้แทนจากบริษัท Umicore บริษัท INVE Aquaculture และบริษัท Solvay จากเบลเยียมที่ลงทุนในประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม เช่น เช่น Incubation Centre และระบบนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation Platform) เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านวิจัยและดึงศักยภาพของแต่ละภาคส่วนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยระบุว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการผลักดันนวัตกรรมภายในประเทศ

ทั้งนี้ เพราะบริษัทต่างชาติจะไม่ลงทุน R&D ในสาขาที่มีการพัฒนาและวิจัยอยู่แล้ว แต่ต้องการแนวคิดด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจของบริษัทให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจในปัจจุบันที่เน้นการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยบริษัทต่างๆ เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม (product diversification) เช่น บริษัท INVE ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำ ที่เปลี่ยนวิกฤติของเหตุการณ์โรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) ในกุ้งเมื่อปี 2555 เป็นโอกาสในการพัฒนาอาร์ทีเมียหรือไรน้ำเป็นอาหารสัตว์น้ำที่ปลอดภัยและสามารถเพิ่มความต้านทานโรคให้กับสัตว์น้ำเมื่อเทียบกับอาหารสัตว์น้ำทั่วไป

เร่งสานร่วมมือกับนานาชาติ : สร้างโอกาสของไทยในยุค 4.0

การผลักดันความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาร่วมกับนานาประเทศ เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้ไทยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยเน้นพัฒนาและต่อยอดจากแนวคิดเดิมให้เข้ากับบริบทของไทยมากขึ้น

ปัจจุบัน อียูให้ความสนใจกับการสร้างความร่วมมือเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาของเบลเยียมที่เน้นยุทธศาสตร์ความเป็นนานาชาติ (Internationalization) โดยเพิ่มความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เช่น การเข้าร่วมโครงการวิจัย และการแลกเปลี่ยนนักวิจัยกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย รวมถึงภาคเอกชนจากภายนอกอียูมากขึ้น เพื่อยกระดับการวิจัยของมหาวิทยาลัย และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในรูปแบบที่ส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เน้นการผลิตและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการใช้ซ้ำหรือการนำวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งปัจจุบันอียูเร่งรณรงค์ให้ภาคเอกชนยุโรปปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจตามนโยบายดังกล่าว เพื่อสร้างเสริมศักยภาพไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และทักษะวิชาชีพในสาขา STEM

ช่วงที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผลักดันและสนับสนุนโครงการนำร่องด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ร่วมกับภาคเอกชนของไทย ตามแนวทางการทำงานประสานกัน 3 ฝ่าย ระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน (Triple Helix) ซึ่งเป็นรูปแบบที่เบลเยียมประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนนวัตกรรมจนได้รับการจัดอันดับโดย Bloomberg ให้เป็นเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมสูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก

โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัย VITO (The Flemish Institute for Technological Research) ของเบลเยียม ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปของเหลือจากกระบวนการผลิตแมคคาเดเมียและกาแฟของโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย ให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น พลังงานไฟฟ้า หรือวัสดุเสริมเพื่อทดแทนปูนซีเมนต์ จากเดิมที่ต้องกำจัดด้วยการฝังกลบ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดปริมาณขยะได้แล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเหลือทิ้งเหล่านั้นได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งคาดว่า จะเริ่มโครงการดังกล่าวได้ในปี 2561

บทสรุป

ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2579 โดยเร่งผลักดันการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการยกระดับศักยภาพการผลิตและบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ประเด็นสำคัญในการผลักดันการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศไทย ต้องเน้นการสร้างระบบนิเวศน์ที่จำเป็นต่อการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Incubation Centre ที่ช่วยเสริมทักษะด้านบริการจัดการธุรกิจแบบมืออาชีพให้กับนักวิจัยหรือนักศึกษาในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และศูนย์ความเป็นเลิศในสาขาที่สำคัญที่เน้นการทำงานร่วมกับ Incubation Centre ของมหาวิทยาลัยต่างๆ

โดยภาคเอกชนเองก็หนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อผลักดันนวัตกรรม ผ่านการทำงานร่วมกับ Incubation Centre ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และสถาบันวิจัยของภาครัฐอย่างเช่น สวทช. ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องทางในการต่อยอดธุรกิจจากงานวิจัยใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นส่วนช่วยพัฒนาทักษะด้านวิจัยและพัฒนาให้กับนักวิจัยหรือนักศึกษา ที่อาจกลับไปเป็นกำลังสำคัญของบริษัทในอนาคตอีกทางหนึ่งด้วย

 

*** ชื่อเต็ม: 

“ไทย – เบลเยียม จับมือ

ร่วมเป็นหุ้นส่วนความสัมพันธ์ขับเคลื่อนนวัตกรรม”