SME ไทย’รู้สึก’อย่างไร เมื่อเศรษฐกิจโต 4.8%

SME ไทย’รู้สึก’อย่างไร เมื่อเศรษฐกิจโต 4.8%

SME ไทย’รู้สึก’อย่างไร เมื่อเศรษฐกิจโต 4.8%

Surprise กันเลยทีเดียว กับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีเพิ่งออกมากับส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องถึง 11% ตามมาด้วย GDP ที่โตเร่งตัวขึ้นถึง 4.8%  ตัวเลขดีกว่าที่คาดทำให้หลายสำนักปรับประมาณการณ์ขึ้นกันยกแผง แต่คำถามที่ยังคาใจหลายๆคนคือ ทำไมตัวเลขเศรษฐกิจโตดีขนาดนี้… แต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้สึก

จุดนี้เรียกว่าจี้ใจดำเลยสำหรับคนที่พึ่งพาอาศัยเศรษฐกิจฐานรากว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมารู้สึก‘อิน’กับตัวเลขเศรษฐกิจ‘ภาพสวย’ เมื่อหันกลับมาดูรายได้หรือยอดขายของตัวเอง  

โดยคนที่อยู่กับเศรษฐกิจฐานรากหลักๆแบ่งเป็นสามส่วนคือแรงงานภาคเกษตร แรงงานนอกภาคเกษตร (เช่น อุตสาหกรรมและบริการ) และธุรกิจ SME

ซึ่งวันนี้จะชวนท่านผู้อ่านมาโฟกัสกันที่ SME ว่าเค้ามองตัวเองอย่างไรในไตรมาสแรกที่ผ่านมา เราจะดูผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี ที่ทาง TMB Analytics ได้วิเคราะห์จากความเห็นของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางกว่า 1,300 รายทั่วประเทศ

เราพบว่าในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปีมาอยู่ที่ระดับ 40.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 35.5 ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน การปรับตัวดีขึ้นมาจากทั้งความเชื่อมั่นด้านรายได้และความเชื่อมั่นด้านต้นทุนที่ดีขึ้น โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49.2 สูงสุดในรอบ 5 ปี และดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออก กรุงเทพและปริมณฑล เนื่องจากได้รับแรงส่งการค้า การส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ในขณะความเชื่อมั่นด้านต้นทุนพบว่าอยู่ที่ 31.1 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ในภาพรวมผู้ประกอบการมีความกังวลด้านต้นทุนลดลงและส่วนใหญ่กังวลในเรื่องต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาเจาะลึกลงไปที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านรายได้ในปัจจุบันของ SME ที่ปรับดีขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ตอบว่า มีสาเหตุมาจากสองปัจจัยหลักคือ หนึ่ง...ปัจจัยเศรษฐกิจฟื้นตัว ได้แก่ ลูกค้าเก่า/ใหม่สั่งซื้อสินค้ามากขึ้น ยอดขายเติบโตตามห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการส่งออกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลบวกจากนโยบายภาครัฐ (อาทิ ธงฟ้าประชารัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ)

และสอง...ปัจจัยการเข้าสู่ฤดูกาลขาย ได้แก่ เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตร ช่วง high season การท่องเที่ยว เข้าสู่เทศกาลรื่นเริง เข้าหน้าแล้งทำให้การก่อสร้างง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจความเชื่อมั่นด้านรายได้ พบว่าปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีจำนวนผู้ตอบที่มากกว่าปัจจัยการสู่เข้าฤดูการขาย ชี้ว่าผู้ประกอบการเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบีที่ปรับตัวดีขึ้นสูงขึ้น ความสอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ รายได้ภาคเกษตรที่ดีขึ้นเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการ SME ที่ขยายตัว และการจ้างงานที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นพร้อมกับจำนวนชั่วโมงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ชี้ถึงสภาพแนวโน้มดีมานด์ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2560 เป็นต้นมา ส่วนข้อกังวลของผู้ประกอบการเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาจไม่ส่งผลกระทบในภาพรวมมากนัก โดยอาจกระทบกำไรสุทธิให้ลดลงประมาณ 0.2% โดยรวม

ถือว่าสภาพแวดล้อมธุรกิจ SME เริ่มมีข่าวดีมากขึ้น ซึ่งเราประเมินว่าหากสามารถรักษาโมเมนตัมแรงส่งทางเศรษฐกิจนี้ไว้ได้ ภาวะเศรษฐกิจของ SME จะมีทิศทางที่สดใสขึ้นตลอดทั้งปี 2561

แต่เดี๋ยวก่อนครับ …  ถึงแม้ในภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และ SME เริ่มได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อที่กลับมาช่วยการดำเนินธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า  มองไปข้างหน้าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงหันไปใช้ช่องทางดิจิตอลมากขึ้น การค้าขายหน้าร้านแบบเดิมๆก็คงจะอยู่ยาก ดังนั้นธุรกิจมีความจำเป็นที่จะต้องขยายการดำเนินธุรกิจไปสู่โลกยุคดิจิตอล เพื่อสร้างตลาดใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับอานิสงส์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ