นโยบายเศรษฐกิจภายใต้ปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆ

นโยบายเศรษฐกิจภายใต้ปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆ

แนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองนีโอคลาสสิก (Neo-classical Political Economics) มองว่ากระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เกิดจาก

เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์กับอุปทานของนโยบาย อย่างไรก็ตาม แนววิเคราะห์แบบนี้มีข้อจำกัด เนื่องจากการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์กับอุปทานของนโยบาย ขาดการศึกษาโครงสร้างส่วนบนของระบบเศรษฐกิจ (Super Structure) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ (Non-economic factors) และ ในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจต้องพิจารณาความเป็นไปของระบบทุนนิยมโลกด้วย การศึกษาถึงบทบาทความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนธุรกิจในชาติ ข้ามชาติในการกดดันเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ บทบาทของพรรคการเมือง นักการเมือง เครือข่ายอุปถัมภ์ พวกพ้องในแม่น้ำ 5 สายของ คสช การวิ่งเต้นแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในคณะรัฐมนตรี และการต่อรองอำนาจในสภานิติบัญญัติ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายต่างๆ และการผ่านกฎหมายต่างๆ มาบังคับใช้

บทบาทของสมาคมการค้าธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมธนาคารไทย หอการค้าต่างชาติ องค์กรแรงงาน สมาคมผู้บริโภค องค์กรพัฒนาเอกชน ล้วนเป็นกลุ่มพลังทางผลประโยชน์นอกระบบราชการที่มีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศมากขึ้นตามระดับแม้ประเทศจะอยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหารที่เป็นรัฐราชการก็ตาม

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้ตั้งข้อสมมติว่า การก่อเกิดของนโยบายเศรษฐกิจนโยบายใดนโยบายหนึ่งเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเหตุปัจจัยที่สำคัญ 4 กลุ่มด้วยกัน คือ

  1. ระบบทุนนิยมโลก (World Capitalism)เหตุปัจจัยในกลุ่มนี้ประกอบด้วยระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Order) ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ บทบาท ขององค์การระหว่างประเทศ และ บทบาทของบรรษัทนานาชาติ ตัวแปรเหล่านี้ มีบทบาทและอิทธิพลต่อการก่อเกิดของนโยบายเศรษฐกิจโดยผ่านอุปทาน อุปสงค์ของนโยบายหรือบางครั้งอาจมีอิทธิพลต่อนโยบายโดยตรง
  2. โครงสร้างส่วนบนของระบบเศรษฐกิจ (Superstructure)เหตุปัจจัยในกลุ่มนี้ประกอบด้วยระบอบการเมือง จารีตธรรมเนียม วัฒนธรรมทางการเมืองตลอดจนระบบความสัมพันธ์ในสังคม ระบอบการเมืองเป็นโครงครอบที่กำหนดกติกาในตลาดนโยบายเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการผลิต ประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จะมีบทบาทมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าเป็นระบบการปกครองแบบใด นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ภายใต้ระบอบใดย่อมสะท้อนถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน เช่น ความสัมพันธ์ระบบศักดินา ระบบอุปถัมภ์ ย่อมแตกต่างกับระบบทุนนิยมหรือระบบสังคมนิยม
  3. อุปสงค์ของนโยบายเกิดจากความต้องการทางด้านนโยบายของกลุ่มต่างๆ ในสังคม ตั้งแต่กลุ่มทุนอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงาน กลุ่มนายจ้าง กลุ่มครู กองทัพ เป็นต้น และ4. อุปทานของนโยบาย กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนออุปทานนโยบาย ได้แก่ นักการเมือง พรรคการเมือง ข้าราชการ เป็นต้น

เป้าหมายของการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมีดังต่อไปนี้

1.การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth)คือ การผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น และคุณภาพสูงขึ้นหรือเพิ่มมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น ในทางทฤษฎีอธิบายโดยใช้เส้นเป็นไปได้ในการผลิต (Production Possibility Curve or Frontier) นั่นคือ การทำให้เส้นเป็นไปได้ในการผลิตขยายออกไปทางขวา มีการอัตราการขยายตัวสูงขึ้นอันนำมาสู่ความก้าวหน้าและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แนวคิดการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับการท้าทายโดยสำนักคิดเศรษฐศาสตร์ทางเลือกว่า จริงๆ แล้วแนวคิดนี้นำมาสู่ความสุขและคุณภาพที่แท้จริงของมนุษย์หรือไม่ แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อมา จึงให้ความสำคัญกับ “คุณภาพชีวิต” และ ให้ “มนุษย์” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนามากขึ้น รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องมี ความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีความสมดุล

2.ภาวะการจ้างงานเต็มที่ (Full employment)นั่นคือ สามารถหางานให้ประชาชนทุกคน ทำได้ตามขีดความสามารถและศักยภาพปกติของแรงงาน ภาวะการจ้างงานเต็มที่หมายถึง ระบบเศรษฐกิจมีอัตราการว่างงานเท่ากับอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ (Natural Rate of Unemployment) เท่านั้น ภาวการณ์มีการทำงานของประชาชนในระบบเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

3.ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Efficiency)คือสามารถตอบสนองความต้องการได้สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่4. เสถียรภาพของระดับราคา (Price-level stability) ต้องไม่ให้เกิดความผันผวน หลีกเลี่ยวภาวะเงินเฟ้อ และภาวะเงินฝืด 5. มีเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ (Economic freedom) มีหลักประกันว่าองค์กรธุรกิจ แรงงาน และผู้บริโภคมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยที่เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย 6. การกระจายรายได้ ทรัพย์สินและความมั่งคั่งที่เป็นธรรม (Equitable distribution of income/Asset/Wealth) ที่ไม่ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นมากเกินไป

7.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economic security)ให้สมาชิกของสังคมเกิดความมั่นคง ในการดำรงชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันในการมีงานทำ8. การสร้างดุลยภาพต่อภายนอกด้วยดุลการชำระเงินที่เหมาะสม (Balance of Payment) หาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการก่อให้เกิดดุลการค้าและดุลบริการหรือดุลบัญชีเดินสะพัดที่เหมาะสมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกหรือเกิดดุลยภาพของธุรกรรมทางการค้า การเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ไม่ว่าปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆหรือกลุ่มพลังกดดันต่างๆจะส่งผลต่อนโยบายอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างไรก็แล้วแต่ หากผลสุดท้ายเนื้อหาของนโยบายเศรษฐกิจยังสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็ต้องถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวมแล้วล่ะครับ