แนวทางกำกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสม

แนวทางกำกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสม

ความเห็นและข้อเสนอแนะในภาพรวมของการส่งเสริมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในภาพรวม 

หลังจากที่ พ.ร.ก การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้ถูกประกาศใช้ออกมาตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม และสำนักงานกลต.ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงตอนนี้ได้มีข้อเสนอแนะมากมายจากผู้ที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วตลอดจนผู้ที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบการ 

ส่วนตัวผมขอที่ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในภาพรวมของการส่งเสริมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในภาพรวม โดยไม่ลงไปแตะในข้อกฎหมายมากนัก ดังนี้

ข้อแรก..การทำ ICO เหมาะสมกับสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมเท่านั้นแม้ว่าการทำ ICO จะเป็นวิธีการระดมทุนที่มีความเป็นอิสระสูง ใครก็ได้ที่มีไอเดียและโปรดักต์ก็สามารถทำได้ (ในประเทศที่ยังไม่มีการกำกับดูแล) แต่ส่วนตัวผมมองว่า วิธีการระดมทุนรูปแบบดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสตาร์ทอัพขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้น เนื่องจากอาจขาดประสบการณ์ในการบริหารเงินที่ได้รับมา หรือขาด Know How และ Connection ต่างๆที่ VC จะเป็นผู้ให้หลังเข้าร่วมทุน ยังไม่นับความน่าเชื่อถือและการเป็นที่รู้จักในตลาด

ถ้าหากเปิดให้สตาร์ทอัพที่ไม่มีความพร้อมเข้ามาระดมทุนด้วยวิธี ICO และประสบความล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้ไปได้ไม่ไกลมากนัก การกำกับดูแลจึงต้องดำเนินอยู่บนทางสายกลาง ไม่หย่อนหรือตึงจนเกินไป

ข้อสอง..ไม่ควรใช้กฎหมายสถาบันการเงินมากำหนดแนวทางปฎิบัติของธุรกิจเทคโนโลยีหมดทุกข้อ เพราะธรรมชาติของสองธุรกิจนี้มีความแตกต่างกัน โดยธรรมชาติของธุรกิจเทคโนโลยีจะมีความยืดหยุ่นคล่องตัวมากกว่า แม้ตอนนี้ฟินเทคส่วนใหญ่สามารถดำเนินธุรกิจที่ใกล้เคียงกับสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมจนเข้าขั้น

ที่จะ Disrupt รูปแบบธุรกิจ Old Economy แต่นั่นก็เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ให้เข้าถึงได้อย่างวงกว้างมากขึ้น การที่นำรูปแบบกฎหมายสถาบันการเงินอย่าง พ.ร.บ หลักทรัพย์ ซึ่งควบคุมบริษัทหลักทรัพย์ มาปรับใช้กับธุรกิจซื้อขายคริปโตหรือ  Exchange โดยตรง อาจทำให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจยากขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม

ข้อสาม..ควรเก็บภาษีจากการทำ ICO และซื้อขาย Cryto ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ประเด็นนี้ถูกยกขึ้นมาถกเถียงมากที่สุดทั้งเรื่องของตัวเลขการจัดเก็บที่สูงเกินไปในมุมมองของคนที่ทำธุรกิจรวมถึงผู้ใช้บริการ รวมถึงวิธีการบันทึกกำไรเพื่อนำไปหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องบอกว่าในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปิดทางให้โลกแคบลงทุกวัน พรมแดนที่ปิดกั้นทางธุรกิจจะค่อยๆหายไป ทำให้ปัจจุบันมีหนทางมากมายที่ผู้ออก ICO และผู้ที่เทรด Crypto สามารถทำธุรกรรมดังกล่าวในต่างประเทศได้โดยง่ายการที่มีการจัดเก็บภาษีในประเทศใดประเทศหนึ่งที่สูงเกินไปหรือมีข้อห้ามในการทำธุรกิจที่ตึงเกินไป ก็จะทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินออกไปต่างประเทศ แทนที่รัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายแต่กลับไม่สามารถเรียกเก็บได้ด้วยช่องทางการเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีและเงินที่เสรีมากขึ้น

ประเทศไทยตอนนี้ถือว่าก้าวหน้าอย่างมากสำหรับการวางระเบียบและกฎหมายในการดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ขอเพียงแค่กำหนดกฎระเบียบและจัดเก็บภาษีให้อยู่บนทางสายกลางได้ โอกาสที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก็ไม่ได้ไกลเกินไปครับ