จงดู “ผู้นำ” เป็นแบบอย่าง

จงดู “ผู้นำ” เป็นแบบอย่าง

ผมได้ยินคำขอโทษค่อนข้างบ่อยในระยะนี้ ทั้งมาจากผู้นำรัฐบาล และยังมีคลิปที่เป็นการเรียกร้อง "คำขอโทษ" ของผู้รับบริการ

ที่เหมือนจะไม่ได้รับความเอื้อเฟื้ออย่างที่ควรจะเป็น ทุกวันนี้ผมให้คำแนะนำ "คนขับรถ" ที่เขามักถามผมเสมอว่า ทำไมอาจารย์สอนให้ผมพูดว่า "ขอโทษ ขออภัย" บ่อยเกินไป เขาสงสัยว่า "เขาทำผิดอะไร" ผมตอบเขาตรงๆว่า คำว่า "ขอโทษ" อย่าไปเข้าใจว่าคุณทำผิดถึงต้องพูดคำนี้ แต่คำว่า “ขอโทษ หรือ ขออภัย” ในบางวาระโอกาส เป็นเรื่องของความถ้อยทีถ้อยอาศัย บางทีเราอาจโดดเด่นหรือดูดีเหนือกว่าคนอื่น อันเป็นสาเหตุให้คนหมั่นไส้ หรือเราอาจเป็นต้นเหตุให้คนที่หมั่นไส้เราเขาเกิดความทุกข์ใจโดยเราไม่รู้ตัว การใช้คำว่า ขอโทษ น่าจะแสดงให้เห็นถึง “ความเมตตาที่เรามีต่อผู้อื่น แม้เราจะไม่ทำผิด” ขอโทษหรือขออภัยเป็นการฝึกจิตใจให้มองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่จุกจิกกวนใจ และจะทำให้เรามองเรื่องที่เหมือนจะหนักหนาสาหัสกลายเป็นเรื่องเบาหวิวเหมือนขนนกได้ในที่สุด

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ “คำขอโทษ” เป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่น่ายกย่อง ตั้งแต่ผมเรียนหนังสือมัธยมต้น ขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนในเวลานั้น คนแน่นเต็มคันรถแทบทุกคันที่ใช้โดยสาร เมื่อขึ้นไปก็ต้องเจอสภาพเบียดเสียด จะขึ้นจะลงรถ ทั้งที่มันเป็นทางเดินของเรา คนอื่นยืนขวางแต่เราก็พูดคำว่า “ขอโทษ” กันติดปาก ไม่ใช่ว่าเกรงกลัวหรือต้องการเรียกร้องความสนใจ แต่ผมถือเป็น "มารยาททางสังคม" ทั้งที่คนยืนขวางทางควรจะขอโทษเรามากกว่า ซึ่งสิ่งที่ถือปฏิบัติจัดเป็นความงดงามที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาระยะเวลาหนึ่ง มาในระยะหลังๆ นี้ ไม่รู้คนไทยจำนวนหนึ่งไปรับเอาวัฒนธรรมแปลกประหลาดที่ใดมา เหมือนไปจำท่วงทำนองเพลง hard to say I’m sorry เข้าไปทุกที แม้จะคนละความหมายคนละประเด็น แต่ถ้าแปลตรงๆ คือ “มันยากที่จะกล่าวคำขอโทษ” แม้แต่การไหว้ก็กลายเป็นเรื่องศักดิ์ศรีสูงต่ำ หาใช่ดังความเข้าใจของคนต่างชาติที่มองว่าการไหว้เป็นการทักทายตามปกติของคนไทย

ผมเห็นตัวอย่างอดีตนักการเมืองหลายคน ยากยิ่งที่จะเอ่ยเอื้อนคำว่า “ขอโทษ” เพราะอาจไปยึดติดว่า การกล่าวขอโทษคือ การยอมรับผิด เป็นเรื่องน่าอับอาย หรือเป็นเรื่องของการถอยร่นทางการเมือง ซึ่งน่าจะเป็นทัศนคติหรือความคิดที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก แต่ในบางทีคนเราก็อยากได้ยินคำ “ขอโทษ” เพราะเขาอาจรู้สึกกับตัวเขาว่า เขาเองหรือเปล่าที่ผิด จึงต้องไปเรียกร้องเอาคำ “ขอโทษจากอีกฝ่าย” ทำให้คำขอโทษดูเหมือนจะคล้ายคำในภาษาอังกฤษที่เขาเรียกว่า พาราดอกซ์ paradox คือ มันเหมือนจะเป็นอย่างนั้น แต่มันไม่ใช่อย่างที่มันควรจะเป็น ว่ากันง่ายๆ คือ เป็นความหมายที่ไม่ตรงหรือสวนทางกับสิ่งที่พูด

ผมมีเพื่อนเป็นเจ้าของกิจการร้านสะดวกซื้อรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ มีอยู่วันหนึ่งนั่งรถไปด้วยกัน แกจะรีบไปซื้อของสำคัญในร้าน เด็กในร้านคงไม่รู้จักว่าแกเป็นใคร จริงๆ ก็น่าจะเป็นเวลาปิดร้านแล้ว แต่เพื่อนผมรายนี้ก็เหมือนจะโมโหสุดขีดเพราะเห็นว่าคนดูแลร้านทำงานแบบหุ่นยนต์เกินไป คือทำตามฟังก์ชันที่โปรแกรมกันมา เขาให้ทำอะไรก็ทำ เขาให้ทำถึงกี่โมงก็ว่าไปตามนั้น ผมต้องอธิบายหาเหตุผลเหมือนที่เขียนมาข้างต้นเพื่อให้เขาเข้าใจว่า มนุษย์มีความแตกต่างกัน human differences ถ้าอยู่กับมนุษย์ ทำงานกับมนุษย์ ก็ต้องเข้าใจมนุษย์ ดังนั้นเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวก็ดี เรื่องที่อยู่ในคลิปในสื่อสังคมต่างๆ ก็ดี ล้วนแต่มีทางออกที่ดี ด้วยการทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่มี รัก โลภ โกรธ หลง

ยิ่งผมเองเป็นบุคคลสาธารณะ ถ้าทำใจไม่ว่างก็คงเครียดมาก เพราะแต่ละวันมีคนติฉินนินทาว่าร้าย ทั้งที่ไม่เคยรู้จักหรือไปทำความเดือดร้อนให้แต่อย่างใด ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์มีโอกาสไล่เปิดดูคลิปย้อนหลังของคนที่พูดถึงตัวเองหลายคลิป เรื่องที่กล่าวหาส่วนใหญ่จะเป็นการกล่าวหาเราโน่นนี่ มาจับความในคลิปได้ว่า เป็นเพราะมีคนแวดล้อมทางการเมืองเป็นคนไปให้ข่าว เมื่อปะติดปะต่อเนื้อหาได้ ก็ทำให้เข้าใจมาในทันทีว่า เหตุการณ์บางอย่างที่ผ่านมาเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ถ้าใครหูเบาหลงเชื่อตามที่เขาเสกสรรปั้นแต่งก็คงทำให้เราเดือดร้อน แต่ผมเป็นคนไม่ยึดติดหรือหาความกับคนเหล่านี้ การก้าวมาถึงจุดนี้ได้ กล้ายืนยันว่าไม่ใช่ฟลุ้คหรือเป็นสามล้อถูกหวย 

นี่ไงครับ เรื่องแบบนี้เองผมไม่คิดจะเรียกร้องให้เขามา “ขอโทษขอโพยอะไร เพราะรู้ว่านี่คือการเมือง นี่คือเกมหรือบทบาทที่เขาต้องช่วงชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จในมุมมองของเขา” แต่ถ้าเราหุนหันพลันแล่น โต้ตอบ หรือเอาอารมณ์เป็นตัวตั้งก็น่าจะทำให้ซวนเซได้ จึงขอให้คนไทยพิจารณารับเอาวัฒนธรรมใหม่ที่ดีงาม ควรมอง "คำขอโทษ" เป็นคำหวานหรือคำสุภาพที่แสดงถึงมิตรไมตรีการถนอมรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน สังคมเราจะได้น่าอยู่และมีความสุขมากยิ่งขึ้น