เศรษฐกิจดี ดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจดี ดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจดี ดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น

หลังจากที่สภาพัฒน์ฯ ประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 4.8% สูงกว่าที่หลายคนคาด ทำให้วงล้อความเชื่อมั่นเริ่มหมุนไป ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคให้ปรับตัวดีขึ้น และแถมอาจมีการลงทุนภาคเอกชนที่หลายคนรอมานานเริ่มปรับตัวดีขึ้นด้วย ส่งผลให้ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ แต่หากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว วงล้อต่างๆ ที่เริ่มหมุนไปในปัจจุบันนี้ ก็จะค่อยๆ หมุนกลับคืน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นในช่วงนี้ ก็จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงด้วย

แม้ว่าหลายคนจะมีความแคลงใจว่าตัวเลขดังกล่าวดีจริงหรือไม่ แต่เรามองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่อง การฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่มีสัญญาณดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นพระเอกโดดเด่นในการนำรายได้เข้าประเทศ ภาคการเกษตรก็เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวบ้าง การใช้จ่ายภาครัฐก็น่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ดังนั้น เรายังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และเราน่าจะได้เห็นการปรับขึ้นประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้

เมื่อเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือแนวโน้มดอกเบี้ยก็อาจจะเป็นขาขึ้นด้วย การที่ กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% มาเป็นระยะกว่า 3 ปีแล้ว และระดับดังกล่าวถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำมาก เพราะในอดีตดอกเบี้ยนโยบายเคยลงไปต่ำสุดที่เพียง 1.25% เท่านั้น ซึ่งการที่ดอกเบี้ยระดับที่ต่ำเช่นนี้อาจจะดูไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ค่อนข้างดี ที่เติบโตถึง 4% ในปีที่แล้ว และเกือบ 5% ในไตรมาสแรก อีกทั้ง ในระยะสั้นๆ นี้ เราอาจได้เห็นเงินเฟ้อพุ่งขึ้นต่อเนื่อง โดยอาจขึ้นใกล้เคียงระดับ 1.5% ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งที่ระดับดังกล่าวก็ถือว่าสูงกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. พอสมควร ทำให้ กนง. อาจจะดู “สบายใจ” มากขึ้นที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย นับเป็นความเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังของปี

แม้ว่าความน่าจะเป็นของการขึ้นดอกเบี้ยจะสูงขึ้น แต่เรายังคงมุมมองว่า กนง. จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ เราจะมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น และตัวเลขที่ประกาศออกมาก็ถือกว่าที่เราคาดอีก แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เรามองว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้นไม่ได้คือ เงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับต่ำ แต่พัฒนาการล่าสุดมีสองปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นเร็วกว่าที่เราคาด หนึ่งคือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี  สอง คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนลงในช่วงที่ผ่านมา แต่เรามองว่าราคาน้ำมันและค่าเงินบาทน่าจะอ่อนตัวลงในช่วงถัดไปช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้บ้าง

สาเหตุที่เรามองว่าราคาน้ำมันอาจจะลดลงเนื่องจาก หากมองตั้งแต่ที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงไปต่ำสุดที่ประมาณ 30 เหรียญต่อบาร์เรลเมื่อ 3 ปีก่อน ที่ระดับราคาปัจจุบันก็ถือว่าราคาน้ำมันพุ่งขึ้นกว่า 100% จากจุดต่ำสุดแล้ว ถือเป็นการเติบโตที่สูงมากเมื่อเทียบกับอดีตในช่วง 3 ปีใดๆ อีกทั้ง ปัจจัยด้านฤดูกาลก็มักทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี และการที่ราคาน้ำมันยืนอยู่ในระดับนี้ได้ก็เนื่องจากความร่วมมือของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน แต่ล่าสุด รัสเซียก็เริ่มส่งสัญญาณว่าต้องการผลิตเพิ่ม ขณะที่ซาอุดิอาระเบียเองก็เผชิญกับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ให้ควบคุมราคาน้ำมันไม่ให้เพิ่มขึ้นสูงนัก ดังนั้น จึงต้องติดตามผลการประชุม OPEC ในวันที่ 22 มิ.ย. ที่อาจจะตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อราคาน้ำมัน

ส่วนด้านเงินบาท ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ตลาดมีการเทขายตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นร่วงลง และทำให้ค่าเงินของกลุ่ม EM อ่อนตัวลงไปโดยทั่วไป เป็นปัจจัยโดยรวมของตลาดโลก ไม่ใช่ปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งเรามองว่าแรงขายดังกล่าวน่าจะชะลอลงในช่วงถัดไป แม้ว่าจะไม่มี Fund Flow ไหลกลับเข้ามามากนัก แต่เรายังคงมองว่าการที่ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงมาก โดยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 13.3% ของ GDP ยังน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงถัดไปได้

ทั้งนี้ เราเองอาจจะไม่ได้กังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยมากเท่าใดนัก หากการขึ้นดอกเบี้ยมาจากเหตุผลว่าเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เราอาจจะมีความกังวลกว่าว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลใดๆ ต่อเศรษฐกิจ โดยปรกติแล้วผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แต่ในครั้งนี้เราอาจจะเป็นกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจเร่งให้มีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น ทั้งจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยที่เคยออกไปลงทุนอยู่ในต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะหากมองที่ปัจจัยพื้นฐาน เศรษฐกิจที่เติบโตดี ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับมหาศาลที่กล่าวข้างต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทั้งสิ้น

ส่วนผลกระทบต่อภาพการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้นั้น ที่ผ่านมาถือว่ามีความผันผวนสูง เรามองว่ากองทุนยังมีโอกาสเผชิญความผันผวนในระยะสั้นๆ ข้างหน้า โดยเฉพาะจากประเด็นดอกเบี้ยในประเทศนี้ แม้ว่าดอกเบี้ยต่างประเทศจะเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวลดลงก็ตาม แต่หากผ่านพ้นช่วงเวลาที่ผันผวนนี้ไป กองทุนตราสารหนี้อาจมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้นจาก Reinvestment Rate ในตราสารหนี้ใหม่ๆ เมื่อดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสให้นักลงทุนที่มีแผนจะลงทุนระยะกลางถึงยาวทยอยเข้าซื้อได้ครับ