ทำไมจึงควรเก็บค่าน้ำชลประทาน (ภาษีน้ำ) (2)

ทำไมจึงควรเก็บค่าน้ำชลประทาน (ภาษีน้ำ) (2)

การใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองที่กล่าวถึงในตอนที่แล้ว ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในภาคการเกษตรเท่านั้น

 แต่การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และบริการก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว (ปีละ 3-5%) เพราะการเพิ่มของประชากรในเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และมีเหตุบ่งชี้ว่ามีการใช้น้ำอุปโภคบริโภคค่อนข้างฟุ่มเฟือย

สาเหตุหลักเกิดจากการที่ผู้ใช้น้ำประปาในกรุงเทพฯ ไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าน้ำดิบทั้งหมดที่มาจากระบบชลประทาน ในปี 2560 การประปานครหลวง (กปน.) ต้องใช้น้ำดิบมาผลิตน้ำประปาประมาณ 2,063 ล้านลิตร แต่ กปน.จ่ายค่าน้ำดิบให้กรมชลประทานเฉพาะน้ำดิบที่สูบจากสถานีสูบน้ำมหาสวัสดิ์ จำนวน 546.3 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยจ่ายค่าน้ำดิบให้กรมชลประทานลูกบาศก์เมตรละ 0.50 บาท ส่วนน้ำดิบอีก 3 ใน 4 ส่วนที่ กปน.สูบจากสถานีที่สำแล (ปทุมธานี) ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำให้กรมชลประทาน

ดังนั้น ในใบเสร็จค่าน้ำของผู้ใช้น้ำของ กปน. ผู้ใช้น้ำประปาจึงแบกภาระค่าน้ำดิบเพียง 0.15 บาทต่อ ลบ.ม. แต่จ่ายค่าน้ำประปาให้ กปน.ในราคาเฉลี่ย 8-10 บาทต่อ ลบ.ม.

กปน.มิได้เป็นผู้ใช้น้ำเพียงรายเดียวที่ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำดิบ ยังมีการประปาของปทุมธานี เพชรบุรี ฯลฯ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งและธุรกิจหลายแห่งที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองสาธารณะ หากเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้เหล่านี้ รัฐจะได้เงินเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยปีละ 2,100 ล้านบาท

ยิ่งกว่านั้นผู้ใช้น้ำประปายังไม่ต้องแบกภาระการบำบัดน้ำเสีย ที่ผู้ใช้น้ำปล่อยลงสู่ท่อระบายน้ำที่ไหลสู่แม่น้ำลำคลองสาธารณะ ทำให้น้ำในแม่น้ำลำธารเน่าเสีย อีกทั้งกรมชลประทานยังต้องปล่อยน้ำดีปีละไม่ต่ำกว่า 1,100 ล้าน ลบ.ม.มาผลักดันน้ำเค็ม ไม่ให้ไหลขึ้นมาถึงบริเวณสำแล เพราะจะทำให้น้ำประปาสำหรับคน กทม.เค็มจนใช้บริโภคไม่ได้

เมื่อผู้ใช้น้ำประปาไม่ต้องรับภาระดังกล่าว ราคาน้ำจึงต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้เกิดการใช้น้ำสิ้นเปลือง

หนทางแก้ไขควรเป็นอย่างไร ราคาน้ำควรเป็นอย่างไร จึงจะมีการใช้น้ำอย่างประหยัด และเราจำเป็นต้องคิดค่าน้ำจากชาวไร่ชาวนาหรือยัง

คำตอบคือ รัฐบาลต้องเร่งจัดทำนโยบายจัดการด้านอุปสงค์หรือความต้องการใช้น้ำ โดยกำหนดนโยบายค่าชลประทานที่ชัดเจนและทบทวนค่าชลประทานใหม่ เร่งรัดให้มีการจัดทำแผนงานและมีการวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะต้องทำให้เสร็จก่อนที่จะสามารถจัดเก็บค่าชลประทานจากชาวไร่ชาวนา

วัตถุประสงค์ของนโยบายจัดการความต้องการใช้น้ำคือ การแก้ปัญหาความขาดแคลนน้ำอย่างเป็นธรรม การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยมีเครื่องมือและแนวทางใหม่ในการจัดสรรน้ำที่ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

หลักการสำคัญของนโยบายค่าชลประทานคือ ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนแบกรับภาระต้นทุนของการพัฒนาระบบชลประทาน ต้นทุนการบำบัดน้ำเสียและรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำลำคลอง งานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า ต้นทุนการพัฒนาระบบชลประทาน (เฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง) เฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 1.49 บาท ขณะที่กรมชลประทานเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำรายใหญ่ (ได้แก่ การประปา นิคมอุตสาหกรรม โรงงาน และรีสอร์ทต่างๆ) เพียง 0.50 บาทต่อ ลบ.ม. ซึ่งยังต่ำกว่าต้นทุนเกือบ 3 เท่าตัว เพราะเป็นอัตราที่ประกาศมาตั้งแต่ปี 2485 รัฐบาลจึงสมควรทบทวนอัตราค่าชลประทานให้เหมาะสมกับสถานการณ์โดยเร่งด่วน หากกรมชลประทานเก็บค่าชลประทานในอัตราใหม่จากผู้ใช้น้ำรายใหญ่ทุกราย (แต่ยังไม่เก็บเงินจากเกษตรกร) จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 760 ล้านบาทต่อปี เป็นอย่างต่ำ 7,000 ล้านบาท ซึ่งมากพอจะใช้ปรับปรุงระบบชลประทานขนานใหญ่ เพราะรายได้ค่าน้ำจะสูงถึง 55% ของงบบำรุงรักษาระบบชลประทานของกรมชลประทาน

แผนงานและมาตรการเร่งด่วนในระยะสั้นที่จะช่วยให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด และลดความสูญเสียจากการใช้น้ำนอกภาคการเกษตร คือ การทำสำรวจ และทำทะเบียนรายชื่อผู้ใช้น้ำรายใหญ่ที่ใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลองสาธารณะและปริมาณการใช้น้ำ โดยเริ่มจากลุ่มน้ำสำคัญที่กำลังมีปัญหาความขาดแคลนน้ำก่อน โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มน้ำในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นต้น รายชื่อและปริมาณการใช้น้ำดังกล่าวจะทำให้รัฐทราบปริมาณการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำรายใหญ่ทั้งหมด รวมทั้งปริมาณน้ำที่ใช้ฟรี กรมชลประทานสามารถออกประกาศกระทรวงจัดเก็บค่าน้ำ ลบ.ม.ละ 0.50 บาท จากผู้ใช้น้ำฟรีเหล่านั้นได้ทันที เพราะมีกฎหมายชลประทานหลวงรองรับอยู่แล้ว

แผนงานขั้นต่อไปคือ การกำหนดอัตราค่าน้ำดิบใหม่ให้สะท้อนต้นทุนการพัฒนาระบบชลประทาน และความเต็มใจจ่ายค่าน้ำของผู้ใช้น้ำประปา งานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่าหากน้ำประปามีคุณภาพดื่มกินได้ และมีน้ำไหลตลอดเวลาไม่ต้องคอยรองน้ำตอนดึก หรือลงทุนซื้อถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ ผู้ใช้น้ำประปาก็ยินดีจ่ายค่าน้ำชลประทานไม่ต่ำกว่า ลบ.ม.ละ 12-15 บาท ฉะนั้นเราสามารถเพิ่มค่าน้ำดิบจาก 0.50 บาทต่อ ลบ.ม. เป็น 1.50 บาทต่อ ลบ.ม. แล้วนำเงินมาปรับปรุงคุณภาพน้ำชลประทาน

สำหรับนโยบายค่าชลประทานที่จะเก็บจากชาวไร่ชาวนาควรประกอบด้วยนโยบายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะขยายความต่อในตอนหน้า

 โดย...

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร 

ผู้อำนวยการ ฝ่ายด้านพัฒนาอุตสาหกรรมและชนบท

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)