มองข้าม“ม็อบ”

มองข้าม“ม็อบ”

ตั้งแต่ต้นปี ม็อบ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เคลื่อนไหว จัดกิจกรรมออนไลน์ ออฟไลน์ แทบจะเป็นอีเวนท์ประจำ

มาถึงรอบนี้ อาศัยจังหวะ ครบรอบ 4 ปี คสช. 22 พฤษภาคม สะท้อนผลงานรัฐบาลทหาร ยื่นข้อเรียกร้องที่แทบไม่ต่างจากเดิม แต่มีเพิ่มเติม คือชวนกันนอนค้างคืน เพื่อเดินไปยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบฯ ให้นายกฯประยุทธ์ หัวหน้า คสช.

การข่าวฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลประเมินว่า ม็อบหลักร้อย” 

แต่เหตุใด “ตำรวจ-ทหาร” ถึงได้ เล่นใหญ่เกินสถานการณ์ เกณฑ์กองกำลังทั้งในเครื่องแบบ นอกเครื่องแบบ รวมกันน่าจะมากกว่าจำนวนผู้ร่วมชุมนุม

ทั้งที่รู้กันอยู่ว่า ประเด็นข้อเรียกร้องของม็อบคนอยากเลือกตั้ง รวมทั้งการเคลื่อนไหวระดมคนนั้น จุดไม่ติด” 

แต่สถานการณ์ถูกยกระดับ การป้องกันทำเนียบรัฐบาลให้ดูเหมือนเป็นเรื่องอันตรายหายนะ 

ทั้งให้ข่าวจะมีฮาร์ดคอร์ นปช.มาร่วมชุมนุม มิหนำซ้ำท่าที “บิ๊กตำรวจ”บางนาย ดูเหมือน“ยั่วยุ”ให้มีเรื่อง

งานนี้ บรรดานักเลือกตั้งวิพากษ์วิจารณ์กันแซบว่า ใครเป็น กุนซือการเมือง" เรื่องอย่างนี้ ถือว่าสิ้นคิด

  ยิ่งการ(ให้)ข่าว(ฝ่ายเดียว)ว่า มีการจัดตั้ง “ฮาร์ดคอร์” ไปผสมโรง ยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะถึงแม้ไม่มีใครกล้าขยับแต่ในพื้นที่ก็ยังถูกสกัดอย่างเข้มข้น 

ที่สำคัญหากมีการจัดตั้งม็อบ ก็ต้องควัก “งบประมาณ” ไม่น้อย   

นาทีนี้ ไม่ว่านักการเมือง มวลชน ชาวบ้าน ต่างนับถอยหลัง ให้ถึงวันเลือกตั้งอย่างใจจดใจจ่อ

พอเห็นอาการไม่ปกติอย่างนี้ เหมือนแฝง “เกมการเมือง” หวังจะให้ใครติดกับดักใคร คำถามใหญ่คือ ผู้มีอำนาจกำลังคิด “หาเหตุ” อะไร ถึงปล่อยให้ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่โต

วันนี้ การเมืองและมวลชน มองข้ามม็อบ...ไปถึงกุมภาพันธ์ปีหน้า ตามสัญญาของหัวหน้า คสช.กันแล้ว

เรื่องที่น่าสนใจมากกว่า คือ สูตร พรรคสำรองของเพื่อไทยกำลังถูกปัดฝุ่น มาแก้เกม เพื่อดูดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์คืน

แถมแผนใหม่ ของพลพรรค ลุงกำนันที่เพิ่งล้มเลิกตั้ง พรรคกปปส.แต่จะหันไปหนุน พรรคพลังประชารัฐแทน

งานนี้ ถ้า “บิ๊กคสช.”ยังหวังจะอยู่ปฏิรูปประเทศต่อ ควรเอาเวลาไปคิดสูตรเข้าสู่การเมืองในระบบ ดีกว่าหวังอยู่ยาวด้วยวังวนปัญหาบ้านเมืองขัดแย้งแตกแยก

 

โดย... นิภาวรรณ