"วัฒนธรรมการเรียนรู้" เรื่องสำคัญใน Silicon Valley

"วัฒนธรรมการเรียนรู้" เรื่องสำคัญใน Silicon Valley

การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมในโลกแต่ละยุคมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับคลื่นยักษ์ที่ถาโถมมาเป็นระลอกและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะว่าไปแล้ว

ชีวิตคนเราก็ไม่ต่างอะไรกับ นักโต้คลื่นที่ต้องใส่ใจเรียนรู้กระแสน้ำและคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หาไม่แล้วเราอาจเพี่ยงพล้ำจนชีวิตหรือธุรกิจพังทลายลงได้ กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังพลิกโฉมโลกธุรกิจอยู่ขณะนี้เกิดจากการ disrupt ของ digital technology ดิฉันคิดว่าการจะเรียนรู้เรื่องนี้ให้ดีที่สุดนั้นก็ต้องไปที่แหล่งกำเนิดของมันคือ Silicon Valleyซานฟรานซิสโก

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนดิฉันได้ไปเยี่ยมดูงานบริษัทไฮเทคชั้นนำหลายแห่งที่นั่น นับได้ว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาให้มองเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของตลาดแรงงานใน Silicon Valley การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Startup และบริษัทในอุตสาหกรรมไฮเทคทำให้การหาแรงงานที่มี skill และความสามารถระดับ top-notch มีการแข่งขันสูงอย่างน่าตกใจ พนักงานส่วนใหญ่ในบริษัทเหล่านั้นก็เป็นคนรุ่นใหม่เป็นมนุษย์ไฮเทคที่มีพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ เช่นที่บริษัท Google มีขั้นตอนการคัดเลือกพนักงานอย่างเข้มข้นเพื่อเฟ้นหาคนที่ใช่ที่มีคุณภาพระดับสุดยอด นอกจากจะพิจารณาเรื่องความรู้ในงาน (job fit) ความเป็นผู้นำ (leadership) การเข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กร (culture fit) แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่มองหาคือคนที่รู้สึกตื่นเต้นและกล้าทำอะไรใหม่ๆ โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าผลของมันที่ออกมาจะสำเร็จหรือไม่ แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำ มี passion ที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับลูกค้าให้สำเร็จโดยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

พนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เหล่านี้มีความต้องการที่แตกต่างกับแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ พวกเขามีความกระหายที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อยากแสดงฝีมือ ได้ออกไอเดียสร้างธุรกิจใหม่ๆ มีส่วนร่วมในความสำเร็จของธุรกิจ ได้ทำงานเป็นทีมโดยได้รับการ empower พร้อมที่จะลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากความล้มเหลว Fail fast, Learn fast และ การเรียนรู้จากความล้มเหลว นี่เองที่เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อความก้าวหน้าของบริษัท Startup ทั้งหลายใน Silicon Valley เพราะมันเป็น “การเรียนรู้ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว” เป็น Validated Learning ที่เปิดโอกาสให้คนเริ่มต้นใหม่ได้อย่างฉลาดกว่าเดิม การที่พนักงานกลัวความล้มเหลวและพยายามทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบทำให้ขาดการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่สำคัญต่อการทำงาน องค์กรจึงสร้างวัฒนธรรมให้พนักงานรู้สึกว่า “ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องน่าอาย ถ้าเราได้ประสบการณ์จากมัน” ดังนั้นหัวหน้างานจึงต้องมีการ coaching และ feedback เพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาดอยู่เสมอ ยิ่งทำบ่อยเท่าไหร่ “วงจรการเรียนรู้” ของลูกน้องก็จะยิ่งถี่ขึ้นเท่านั้น มันช่วยให้พวกเขาเรียนรู้และก้าวหน้าได้เร็วขึ้น

มีบริษัทหนึ่งที่ดิฉันไปเป็นบริษัทอันดับ 1 จากการจัดอันดับของ 2018 Fortune 100 Best Companies to Work For ที่สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ได้อย่างน่าสนใจ ที่นี่มี Learning platform และใช้ Gamification มาสนับสนุนการเรียนรู้ การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องที่แต่ละคนสามารถเลือกได้บนเรื่องที่ตัวเองมีความสนใจและสามารถเรียน online บน platform ใหม่ๆ ที่เป็น Content Aggregation Platform ซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้จาก partners ต่างๆ เช่น Harvard ManageMentor, Udemy, Skillsoft, Degreed และมีความหลากหลาย เป็นการเรียนผ่าน Youtube TEDTALKS หรือแม้กระทั่งเรียนจาก contents ที่ user คนอื่นๆ สร้างขึ้นแล้วนำมาวางบน platform เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน platform เหล่านี้ทำให้การเรียนรู้ง่าย สะดวก และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 

นอกจากนี้ในบางบริษัทยังให้ความสำคัญขนาดกำหนดชั่วโมงของการเรียนรู้ 1 ชั่วโมงทุกสัปดาห์โดยพนักงานทุกคนจะต้องเรียนในชั่วโมงนี้และหยุดทำงานอื่นๆ บางบริษัทมีงบประมาณสนับสนุนการเรียนรู้บนสายอาชีพที่ต้องใช้ technical skill มากโดยให้โอกาสพนักงานเลือกหลักสูตรที่เหมาะกับการพัฒนา skill ของตนเองเพื่อทำให้พวกเขาเก่งขึ้น

การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และความกล้าในการลองผิดลองถูกของบริษัทชั้นนำใน Silicon Valley เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้องค์กรเหล่านั้นเจริญเติบโตและยังคงความสามารถในการแข่งขันอยู่ได้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ SCB เองก็ให้ความสำคัญและดำเนินการอยู่เช่นกัน SCB Academy ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานได้วางรากฐานของ Digital Literacy อย่างเป็นขั้นตอน โดยจัดหลักสูตรต่างๆ ให้กับพนักงานเพื่อสนับสนุนพนักงานให้เรียนรู้เรื่องดิจิทัลตามความต้องการของงานอย่างเต็มที่เพื่อรองรับการทำงานในโลกแห่งอนาคต

ยุคหินไม่ได้สิ้นสุดไปเพราะหินหมด แต่สิ้นสุดไปเพราะมนุษย์ได้ประดิษฐ์สิ่งที่ดีกว่า แม้ว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นจะทำงานได้ดีกว่าแต่มันไม่ได้มาลดคุณค่าของมนุษย์ ดิฉันมองว่า Digital Technology หรือแม้แต่ Robot ไม่ได้เป็นผู้ร้ายที่ย่างกรายมาแทนที่คน แต่เป็นเพื่อนใหม่ที่จะเป็น enabler ให้การทำงานของเราสร้างคุณค่าได้มากกว่าเดิม เราจะเห็นเพื่อนใหม่เหล่านี้เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ เราต้องเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักพวกเขาอยู่ตลอดเวลาและต้องพัฒนาทักษะให้สามารถนำเขามาช่วยทำสิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ มาช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะสร้างคุณค่าในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับลูกค้า องค์กร ประเทศชาติ และโลกของเราด้วยการทำงานเป็น workforce แห่งอนาคตร่วมกัน หากทำได้ก็เหมือนเรา upskill ตัวเองให้กลายเป็น นักโต้คลื่นมืออาชีพ ที่สามารถไต่เกลียวคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ว่าคลื่นลูกนั้นมันจะยิ่งใหญ่หรือรุนแรงแค่ไหนก็ตาม