ความเสี่ยง ไม่คุมไม่ได้

ความเสี่ยง ไม่คุมไม่ได้

ความเสี่ยง ไม่คุมไม่ได้

สิ่งที่ผมจะหยิบยกมาพูดคุยเป็นสิ่งที่หากนักลงทุนคนไหนมองข้ามแล้ว อาจถึงขั้นหายนะได้เลยทีเดียว ใครที่เคยขายหมู ขายขาดทุนหุ้นดีๆ  แบบขายปุ๊บขึ้นปั๊บ เหตุเพราะใจสั่น ถือต่อไปไม่ไหว ลองอ่านเนื้อหาข้างล่างนี้ดูนิดนะครับ

เมื่อพูดถึงเรื่องการลงทุน สิ่งที่ทุกคนสนใจเป็นสิ่งแรกคือผลตอบแทน  ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเราลงทุนย่อมหวังผลตอบแทน แต่... มีสิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้าม นั่นก็คือ ความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวนักลงทุนเอง ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ใครที่เคยเปิดบัญชีลงทุนย่อมต้องผ่านการทำ “แบบประเมินความเสี่ยงฯ” เพราะเมื่อเราลงทุนไม่เกินกว่าความเสี่ยงที่เรารับได้ โอกาสใจสั่น ขายหมูก็จะลดลง  

สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น ต้องเป็นผู้ที่รับความผันผวนได้ค่อนข้างสูง (โดยไม่หลอกตัวเอง) จากค่าเฉลี่ยย้อนหลังตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ราว 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในปีร้ายๆ อาจติดลบราว 50 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่ดีๆ อาจบวกได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์ เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่รับความเสี่ยงได้จริงสามารถอดทนผ่านร้อนผ่านหนาว สามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้นานๆ ต่อเนื่องหลายๆ ปีจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10-15 เปอร์เซ็นต์ได้ไม่ยาก แค่กำไรเท่าดัชนีตลาดก็ได้ผลตอบแทนดังกล่าวแล้ว  ใครที่ซื้อขายบ่อยๆ วนเข้าวนออก แล้วได้ผลตอบแทนต่ำกว่า 10% โดยเฉลี่ยแนะนำให้ซื้อกองทุนที่ Track ผลตอบแทนของ SET Index หรือ SET50 Index ไปเลยครับ เพราะไม่เหนื่อยและสถิติก็พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่าผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณนี้ในระยะยาว

ทั้งนี้ เรื่องของความอดทนต่อความผันผวนนี้ไม่นับรวมถึงการลงทุนในหุ้นผีบอก หุ้นซิ่ง หรือหุ้นที่เล่นตามอารมณ์ตลาดโดยใช้สัญญาณเทคนิค ซึ่งหุ้นกลุ่มซิ่งเก็งกำไรเหล่านี้ต้องมีวินัยในการ cut loss หรือตัดขาดทุนเป็นสำคัญใครจะมาถือยาวๆ ทะลุทุกแนวรับคงไม่เหมาะนะครับ

ดังนั้น ภายใต้สมมติฐานว่าหุ้นที่เราลงทุนเป็นหุ้นพื้นฐานดีการลงทุนที่เหมาะกับความเสี่ยงย่อมมีโอกาสได้กำไรดี อย่างไรก็ตาม คนที่มีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้น้อยก็ยังมีวิธีในการได้รับผลตอบแทนที่ดีจากตลาดหุ้นโดยในทางปฏิบัติเราอาจปรับระดับความเสี่ยงหรือความผันผวนของพอร์ตให้เหมาะสมกับตัวเราได้โดย...

1) ลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งมีการกระจายการลงทุน มีการควบคุมความเสี่ยง และบริหารอย่างเป็นระบบ หากเราเฝ้าหน้าจอเองแล้วใจสั่นรับความเสี่ยงไม่ไหวก็ปล่อยให้มืออาชีพเค้าเฝ้าจอแทนไปดีกว่าครับ

2) แบ่งมาลงทุนในตลาดหุ้นเพียงบางส่วนของเงินที่มี  โดยใช้สมมติฐานตัวเลขกลมๆ ว่าในปีวิกฤติหุ้นอาจลงได้ถึง 50% ดังนั้นถ้านักลงทุนมี limit รับความเสี่ยงได้ไม่มาก สมมติว่า limit ในกรณีเลวร้ายห้ามขาดทุนเกิน 5% ของพอร์ตเวลาลงทุนก็อาจแบ่งเงินในพอร์ตมาลงทุนในหุ้นเพียง 10% เพราะในปีเลวร้ายที่หุ้นร่วงไปกึ่งหนึ่ง (ของ 10% ดังกล่าว) ก็จะคิดเป็นความเสียหาย 5% ของพอร์ตรวมซึ่งยังอยู่ใน limit ใจไม่สั่นถือลงทุนต่อได้ หรืออีกตัวอย่าง กรณีที่ limit การขาดทุนได้ไม่เกิน 10% ของพอร์ต เวลาลงทุนก็อาจแบ่งเงินในพอร์ตมาลงทุนในหุ้นเพียง 20% ซึ่งในปีเลวร้ายที่หุ้นร่วงไปกึ่งหนึ่ง (ของ 20% ดังกล่าว) ก็คิดเป็นความเสียหายแค่ 10% ของพอร์ตรวม ซึ่งยังอยู่ใน limit พอดี (เวลาดูยอดรวมให้ดูทั้งพอร์ต ทั้งส่วนลงทุนในหุ้น และส่วนลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ จะได้ใจไม่สั่น)  และต้องไม่ลืมว่าเงินที่เหลืออีก 80-90% ของพอร์ตรวม ก็ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ (ผลตอบแทน 2-3%)  ทำให้ภาพรวมของพอร์ต ในปีร้ายๆ ก็จะไม่ขาดทุนเกิน limit เมื่อใจไม่สั่นลงทุนหุ้นพื้นฐานดีถือยาวก็มีโอกาสรับผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงได้

อีกอย่างที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานการขายหมู คือการสร้างความรู้ความเข้าใจในบริษัทและธุรกิจที่เราลงทุนและต้องรู้ด้วยว่าอะไรเป็นเหตุผลที่เราชอบบริษัทนั้นๆ  ยิ่งรู้ ยิ่งเข้าใจ ก็จะไม่ใจสั่นเวลาหุ้นร่วงถือลงทุนต่อได้ตราบใดที่พื้นฐานและข้อดีของบริษัทที่เราชอบยังไม่เปลี่ยนแปลงการร่วงของราคาหุ้นนอกจากไม่ทำให้ใจสั่นแล้วยังอาจเป็นโอกาสในการเก็บหุ้นเพิ่มอีกด้วย