“เนื้อปลาปลูก” แก้ไขปัญหาฉลามวาฬ ?

“เนื้อปลาปลูก” แก้ไขปัญหาฉลามวาฬ ?

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ได้มีข่าวคราวของฉลามวาฬท้องแก่ ที่มาติดอวนลากคู่ของเรือประมงในน่านน้ำไทย

จนกระทั่งมีการเชื่อว่าต้องมาเสียชีวิตไปพร้อมกับลูกในท้อง

ปัจจุบัน ปัญหาของทะเลไทย เป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ แม้จะมีข่าวคราวของฉลามวาฬ หรือกระทั่งข่าวคราวของการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม (IUU Fishing) ที่สหภาพยุโรป ได้ให้ใบเหลืองกับประเทศไทย แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว สำหรับคนไทยโดยทั่วไป เพราะสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น

ในขณะที่ ปัญหาของเขาหัวโล้นและการบุกรุกที่ป่า เป็นสิ่งที่รับรู้โดยทั่วไป เพราะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่าย

อาหารไม่มีครีบ หรือ Finless Foods เป็นธุรกิจสตาร์ตอัพ จากสหรัฐอเมริกา ที่กำลังค้นคว้า การปลูกเนื้อปลาในห้องแลบ เพื่อมาแก้ไขปัญหาของทรัพยากรทางทะเล และการทำประมงอย่างทำลายล้าง 

เนื้อที่ปลูกขึ้นมา คือเนื้อปลาจริงๆ และมิใช่เนื้อสังเคราะห์ หรือ เนื้อเทียม ที่ทำให้มีรสชาติเหมือนเนื้อปลา เทคโนโลยีของ Finless Foods ไม่ได้มีความแตกต่างจาก ธุรกิจสตาร์ตอัพอื่นๆ ที่กำลังปลูกเนื้อหลากหลายประเภทในห้องแลบ

วิธีการ คือ การนำเซลล์ของเนื้อปลาจริงๆ มาขยายผลในห้องแลบ ด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์

ดังนั้น จากการอาศัยเซลล์ของปลาเพียงตัวเดียว ก็จะสามารถขยายผลเป็นเนื้อปลาหลายหมื่นตัน หรือมากยิ่งกว่านั้นอีก

ในปัจจุบัน Finless Foods กำลังทำการค้นคว้ากับ ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน โดยทางบริษัทมองว่า จะเป็นการลดผลกระทบจากการทำประมงอย่างทำลายล้าง เพราะ ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน เป็นปลาชนิดหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากประมงอย่างทำลายล้างอย่างร้ายแรง

Finless Foods ยังอ้างด้วยว่า 53 เปอร์เซนต์ของการทำประมงทั่วโลก เป็นการทำประมงอย่างเต็มขนาด (อัตราการเกิดของปลา เท่ากับอัตราการจับ) ในขณะที่อีก 25 เปอร์เซนต์เป็นการทำการประมงอย่างเกินขนาด (อัตราการจับสูงกว่าอัตราการเกิด) จึงเกิดเป็นวิกฤตของทรัพยากรทางทะเลที่กำลังเกิดขึ้่นทั่วโลก และมิใช่มีเพียงเฉพาะในประเทศไทย

โดย Finless Foods ได้คาดคะเนว่า เมื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ หันมารับประทาน เนื้อปลาปลูก ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยการจับปลาของประมงพานิชย์อีกต่อไป เพราะเซลล์ของปลาเพียงตัวเดียว ก็จะสามารถขยายผลเป็นเนื้อปลาได้หลายหมื่นตัน หรือมากยิ่งกว่านั้นอีก

นอกไปจากนี้ Finless Food ยังมองด้วยว่า เนื้อปลาปลูก จะสะอาดปลอดภัย และปราศจากสิ่งเจือปน เช่นไมโครพลาสติก ฮอร์โมน ฟอร์มาลีน ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เพราะการเพาะเลี้ยงเซลล์เป็นกรรมวิธีในห้องแลบล้วนๆ ที่่ไม่ต้องอาศัยปลาจากธรรมชาติ หรือ การเพาะเลี้ยงจากในฟาร์ม

ในปัจจุบัน มีธุรกิจสตาร์ตอัพจำนวนมาก ที่กำลังค้นคว้าการปลูกเนื้อหลากหลายประเภทในห้องแลบ เพราะมีความเชื่อว่า จะเป็นการปฏิวัติห่วงโซ่อุปทานของอาหารอย่างแท้จริง และแก้ไขปัญหาของการขาดแคลนอาหารที่มีคุณภาพ เมื่อประชากรโลกมีจำนวนสูงขึ้น

ล่าสุด ได้มีการสำรวจในสหรัฐและอังกฤษ โดยพบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของชาวอเมริกัน และ 18 เปอร์เซ็นต์ของชาวอังกฤษ มีความยินดีที่จะรับประทานเนื้อที่ปลูกในห้องแลบ จึงแสดงให้เห็นว่า ประชากรส่วนมาก ยังคงมีความหวาดระแวง ในเทคโนโลยีทางอาหารอันใหม่ล่าสุดนี้ อย่างไรก็ดี การสำรวจยังพบด้วยว่า 54 เปอร์เซ็นต์ หรือ กว่าครึ่งหนึ่งของชาวมังสวิรัต กลับมีความยินดีที่จะรับประทานเนื้อที่ปลูกในห้องแลบ ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าประชากรทั่วไป

สิ่งที่น่าสนใจ คือแม้กระทั่ง NGO ระดับโลก อย่างเช่น องค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือ (PETA) ก็ยังลงทุนส่งเสริมการปลูกเนื้อในห้องแลบมาเป็นอาหาร มีการคาดคะเนว่า ภายในปี 2018 นี้ เนื้อที่ปลูกในห้องแลบ จะเริ่มมีให้รับประทานในร้านอาหารบางแห่ง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และที่สำคัญ ต้นทุนของเนื้อที่ปลูกในห้องแลบ ได้ลดลงมามาก ซึ่งอีกไม่นาน ก็จะต่ำกว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม หรือกระทั่งการล่าจากธรรมชาติ

เนื้อที่ปลูกในห้องแลบ จึงมิใช่สิ่งที่ไกลตัว และเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมจะเริ่มใช้งานแล้ว ภายในปีนี้

สำหรับในประเทศไทย เนื้อปลาปลูก จะเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาทรัพยากรทางทะเล หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามดู และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

ที่แน่นอน หากทำให้เกิดทางเลือก ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทาน เนื้อปลาปลูก ที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีราคาที่ต่ำกว่า ก็จะลดความต้องการของปลาที่จับจากธรรมชาติ และส่งผลให้มีราคาที่ต่ำลง และในที่สุด ผู้ที่ประกอบอาชีพประมงพานิชย์ ก็จะปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น และแก้ปัญหาของการทำการประมงอย่างเกินขนาด 

ในอีกด้านหนึ่ง จะส่งผลกระทบกับชาวประมงพื้นบ้านหรือไม่ เป็นสิ่งที่ยากจะคาดคะเน เพราะปลาจากประมงพื้นบ้าน เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม ที่อยู่คนละตลาดกับ ปลาของประมงพานิชย์ที่สามารถถูกทดแทนด้วยเนื้อปลาปลูก แต่อย่างไรก็ดี การฟื้นฟู​ทรัพยากรทางทะเลจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพราะทะเลเป็นสมบัติของส่วนรวม ที่ของประเทศไทย เคยมีความอุดสมบูรณ์มาก่อน