ปัญหากรรมการบริษัทลาออก และบมจ.ไม่มีประธานกรรมการ***

ปัญหากรรมการบริษัทลาออก และบมจ.ไม่มีประธานกรรมการ***

* การลาออกของกรรมการบริษัทจำกัด แต่เดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท ไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้กรรมการบริษัทที่ประสงค์จะลาออก

จะต้องดำเนินการอย่างไร การลาออกมีผลเมื่อใด และบริษัทต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เมื่อกรรมการที่ประสงค์จะลาออกยื่นใบลาออก ก็ต้องอาศัยหลักความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการและบริษัทตามกฎหมายลักษณะตัวแทน คือให้มีผลเมื่อตัวแทนคือกรรมการ ยื่นหนังสือถึงตัวการคือบริษัท และเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้บริษัทไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการที่ลาออกภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อบริษัทไม่ได้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการที่ลาออก ทำให้กรรมการที่ลาออกยังมีรายชื่อเป็นกรรมการตามทะเบียน อยู่ ซึ่งทำให้มีปัญหาเกี่ยวพันถึงคุณสมบัติของกรรมการผู้นั้นที่อาจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญด้วย

ในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท เมื่อปี 2549 ได้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติการลาออกของกรรมการบริษัท เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเพิ่มเติมมาตรา1153/1 และแก้ไขมาตรา1157เพื่อให้ครอบคลุมถึงกรณีกรรมการลาออกด้วย คือ

“ มาตรา 1153/1 กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท กรรมการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่ง จะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้"

“มาตรา 1157 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ให้บริษัทนำความไปจดทะเบียนภายใน 14 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง”

ถึงจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนแล้ว ถ้าบริษัทไม่นำความไปจดทะเบียนภายใน 14 วัน มีความผิดปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ก็ไม่สามารถคัดชื่อกรรมการที่ลาออก ออกจากทะเบียนโดยลำพังได้ ทำให้กรรมการที่ลาออกยังมีรายชื่อเป็นกรรมการของบริษัทตามทะเบียน

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีกรรมการที่ลาออกใช้สิทธิทางศาล,ฟ้องบริษัทเป็นจำเลย ขอให้ศาลบังคับจำเลยดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ โดยนำชื่อของโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

โจทก์ส่งหนังสือดังกล่าวให้แก่กรรมการผู้จัดการของจำเลย โดยส่งไปยังที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลย จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2556 ดังนี้ การส่งหนังสือดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยเพื่อลาออกจากตำแหน่งกรรมการ การลาออกจึงมีผลนับแต่วันที่ 7 ส.ค.2556 ซึ่งเป็นวันที่ใบลาออกไปถึงจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1153/1 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยอีกต่อไปแล้ว เมื่อกรรมการของจำเลยมีการเปลี่ยนแปลง จำเลยก็มีหน้าที่ต้องนำความไปจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 1157 การที่จำเลยไม่นำความไปจดทะเบียนดังกล่าว โดยยังคงชื่อโจทก์เป็นกรรมการไว้จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการให้ถูกต้องได้ และถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์หลีกเลี่ยงหน้าที่หรือความรับผิดตามกฎหมายที่โจทก์มีต่อบุคคลภายนอกในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย อันจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยจึงต้องดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการโดยนำชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2560 )

  * ปัญหาบริษัทมหาชนจำกัด ไม่มีประธานกรรมการและมีกรรมการเหลือไม่ครบองค์ประชุม บริษัทมหาชนจำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด กฎหมายกำหนดให้มีประธานกรรมการ โดยให้คระกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธาน คณะกรรมการต้องประชุมอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุม คณะกรรมการ องค์ประชุมคณะกรมการต้องมีกรรมการมาประชุมอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง คณะกรรมการเป็นผู้จัดการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งการประชุมสามัญประจำปีและการประชุมวิสามัญ

ในกรณีที่บริษัทมหาชนจำกัด ไม่มีประธานกรรมการหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จะดำเนินการเรียกประชุมคณะกรรมการได้หรือไม่ และหากปรากฏว่า มีตำแหน่งกรรมการอื่นว่างลงด้วย จนทำให้เหลือน้อยกว่าจำนวนที่จะเป็นองค์ประชุม จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้นำกรณีนี้หารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว มีความเห็นสรุปได้คือ

บริษัทมหาชนจำกัด กฎหมายกำหนดให้ต้องมีกรรมการคณะหนึ่งเพื่อดำเนินกิจการของบริษัท โดยเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น มีอำนาจและหน้าที่จัดการบริษัทให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นกรรมการยังต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัทด้วย

จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นว่า เมื่อพิจารณาตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มิใช่ตีความเพียงตามตัวอักษร แม้ว่า กฎหมายกำหนดให้ประธานกรรมการมการเป็นผู้เรียกประชุม ก็มิได้หมายความว่า ในกรณีที่ไม่มีประธานคณะกรรมการ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ กรรมการคนอื่นๆ จะไม่สามารถเรียกประชุมคณะกรรมการได้หากยังคงมีกรรมการเหลืออยู่ครบเป็นองค์ประชุม กรรมการที่เหลืออยู่นั้นย่อมสามารถจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อให้การบริหารจัดการงานต่าง ๆของบริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้

สำหรับองค์ประชุมคณะกรรมการต้องนับประธานกรรมการรวมด้วย แต่ถ้าหากนับรวมประธานกรรมการแล้วองค์ประชุมยังไม่ครบ กรรมการที่เหลืออยู่นั้นมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างทั้งหมดโดยเร็ว ส่วนการประชุมของกรรมการที่เหลืออยู่ ย่อมต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการโดยต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดฯ ที่มุ่งหมายให้กิจการของบริษัทสามารถดำเนินต่อไปได้เป็นสำคัญ

 

*** ชื่อgต็ม: ปัญหากรรมการบริษัทลาออก และบริษัทมหาชนจำกัดไม่มีประธานกรรมการ