อุตสาหกรรมการเงินสิงคโปร์ตื่นกระแส Crypto 

อุตสาหกรรมการเงินสิงคโปร์ตื่นกระแส Crypto 

ICO กระแสที่ร้อนแรงอย่างมากในสิงคโปร์ ขนาดที่ว่ามีนักการเงินในสาย Traditional ลาออกมาทำฟินเทคและระดมทุนด้วย ICO 

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปพูดคุยกับผู้คนในอุตสาหกรรมการเงินของสิงคโปร์ทั้งผู้จัดการกองทุน โบรกเกอร์รวมถึงที่ปรึกษากฎหมายและผู้ตรวจสอบบัญชี ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีความเข้าใจในเรื่องของการระดมทุนด้วยวิธีการ ICO ซึ่งตอนนี้เป็นกระแสที่ร้อนแรงอย่างมากในสิงคโปร์ ขนาดที่ว่ามีนักการเงินในสาย Traditional ลาออกมาทำฟินเทคและระดมทุนด้วยICO เลยทีเดียว

บริษัทที่ปรึกษากฎหมายทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ต่างเปิดแผนกให้คำปรึกษาในการทำ ICO โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรืออดีตเจ้าหน้าที่ของMAS มาให้คำปรึกษา และยังมีบริการเสริมจัดหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำICO เช่นการหา Exchange ในการเข้าลิสต์ การทำโรดโชว์หานักลงทุนแม้แต่การรับจ้างเขียน White Paper เรียกได้ว่าขอให้มีเพียงไอเดียและตั้งบริษัทแล้วก็สามารถทำ ICO ได้เลย ไม่นับรวมบริษัทที่ปรึกษาการทำ ICO ที่เกิดขึ้นมาจำนวนมาก ไม่แปลกใจที่สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับต้นๆของประเทศที่เป็นมิตรต่อการทำ ICO

ผู้คนในวงการ Crypto สรุปแบบสั้นๆให้ผมฟังว่าหน่วยงานกำกับด้านการเงินของสิงคโปร์หรือ MAS วางตัวอยู่ตรงกลางระหว่างการกำกับดูแลและการส่งเสริมเทคโนโลยีรวมถึงคงคอนเซบท์ของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเอาไว้ เรียกได้ว่าไม่ห้ามแต่จับตาดูอยู่ห่างๆ

ประเด็นสำคัญที่ผู้ที่จะออก ICO ซึ่งจดทะเบียนที่ประเทศสิงคโปร์จะต้องคำนึงถึงก็คือ การตีความว่า Token ที่เสนอขายเข้าข่ายการเป็น Utility Token หรือใช้เพื่อเป็น Reward ทั่วไป ซึ่งการระดมทุนรูปแบบนี้ ไม่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง แต่ผู้ที่จะระดมทุนจำเป็นต้องมีที่ปรึกษากฎหมายและภาษี รายละเอียดตรงนี้ผมขอข้ามไปเพราะค่อนข้างซับซ้อน 

ส่วนการออก Token อีกรูปแบบนั่นคือ  Securities Token โดยมีนิยามที่เกี่ยวข้องคือ มีสินทรัพย์รองรับ (Asset Back) หรือมีการจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบของการปันผลใดๆก็ตามให้กับผู้ถือ Token แบบนี้จะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับ MAS โดยมีสำนักงานกฎหมายในการเป็นผู้รับรอง โดยจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ 6 เดือนครึ่งไป ผู้ที่จะออก ICO ส่วนมากจึงเลือกที่จะตีความ Token ตัวเองให้เป็น Utility Token เพื่อเลี่ยงการต้องไปขึ้นทะเบียนและการควบคุมดูแลในระดับเดียวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ 

ประเด็นเรื่องภาษี ผู้ที่ตามอ่านข่าวหรือบทความต่างๆอาจรับรู้มาว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่เก็บภาษีจากการทำ ICO เรื่องนี้ผมบอกได้สั้นๆว่าไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมด ยังต้องศึกษาในรายละเอียดอีกพอสมควร 

นอกเหนือจากประเทศสิงคโปร์แล้ว ล่าสุดยังได้มีบางประเทศที่ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบตัวเองเพื่อให้กลายเป็นดินแดนที่เปิดกว้างในการระดมทุนด้วยICO ที่มาแรงในตอนนี้ก็คือ มอลต้า ซึ่งเป็นประเทศในยุโรปตอนใต้รวมถึงยิบรอลต้า ที่พยายามวางตำแหน่งตัวเองให้คล้ายกับประเทศในหมู่เกาะคาริเบี้ยนกับการเป็น Tax Haven และ ICO Heaven 

เห็นได้ว่าทั้งประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินอยู่แล้วและประเทศเกิดใหม่ได้พยายามที่จะเป็นศูนย์กลางของการทำ ICO กระแสของการระดมทุนรูปแบบดังกล่าวจึงน่าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง