บนเส้นทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน “กรีนบอนด์”

บนเส้นทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน “กรีนบอนด์”

บนเส้นทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน “กรีนบอนด์”

สวัสดีครับ

ตามที่ได้สัญญาไว้ในบทความคราวที่แล้ว วันนี้ผมจะมาพูดคุยถึงการระดมทุนผ่านเครื่องมือทางการเงิน ที่ใช้ในการระดมทุนและกำลังมาแรงในภาคธุรกิจชั้นนำ นั่นคือกรีนบอนด์ (Green Bond) ครับ 

ก่อนอื่น ผมขอเริ่มที่ความหมายของกรีนบอนด์หรือพันธบัตรสีเขียว เหตุที่เรียกว่าสีเขียวเนื่องจากกรีนบอนด์ เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใช้ในการระดมทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนหรือสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  (Green Project) อาทิ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการจัดการขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือโครงการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Building) เป็นต้น

การออกกรีนบอนด์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะหลัง โดย ณ สิ้นปี 2560 ยอดคงค้างของการระดมทุนด้วยการออกกรีนบอนด์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 3.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (11.7 ล้านล้านบาท) ตัวเลขมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้สะท้อนถึงความต้องการของนักลงทุนยุคใหม่ที่ต้องการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินอย่าง กรีนบอนด์ รวมถึงเจตนารมณ์ของภาคสังคมและการเมืองที่ต้องการสนับสนุนการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมา ผู้ออกกรีนบอนด์มาจากหลายภาคส่วนประกอบด้วย องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ รัฐบาลกลาง เทศบาลท้องถิ่น ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเอกชน ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ระดมเงินผ่านกรีนบอนด์
เพื่อนำไปปล่อยกู้ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน หรือโครงการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Building)
เป็นหลัก จากการรายงานของบริษัทจัดอันดับเครดิต Standard & Poor’s พบว่าในปี 2560 ธนาคารพาณิชย์ได้ระดมทุนผ่านกรีนบอนด์ด้วยมูลค่าสูงถึง 2.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (8.7 แสนล้านบาท) คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของยอดรวม   

กรุงศรีประมาณการณ์ว่าในปัจจุบัน มีนักลงทุนสถาบันอย่างน้อยหนึ่งในสาม (ทั้งที่ลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้) ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาการลงทุนโดยวิเคราะห์ผ่านมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 นักลงทุนในสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของนักลงทุนทั้งหมดจะหันมาใช้เกณฑ์ทางด้าน ESG ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการลงทุน   

ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับธนาคารพาณิชย์รวมถึงภาคธุรกิจในการใช้กรีนบอนด์เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมาสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังช่วยตอบโจทย์ของนักลงทุนในปัจจุบันที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน โดยใช้เกณฑ์การวิเคราะห์ในมิติทางด้าน ESG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ