ขอมองอีกมุมเรื่องขาดทุนของแบงก์ชาติ

ขอมองอีกมุมเรื่องขาดทุนของแบงก์ชาติ

ขอมองอีกมุมเรื่องขาดทุนของแบงก์ชาติ

ช่วงที่ผ่านมา มีคนหยิบยกประเด็นการขาดทุน 900,000 ล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย มาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง (ตัวเลขขาดทุนล่าสุด ตามรายงานฐานะการเงินของ ธปท. คือ 879,419 ล้านบาท และเป็นยอดขาดทุนสะสม ณ 26 เม.ย. 2561 ไม่ใช่ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปี 2560) หลายคนเป็นห่วงว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงขาดทุนมากขนาดนี้ บางคนนำไปเปรียบเทียบกับปี 2540 เพราะกลัวจะซ้ำรอยเดิม

นักวิชาการส่วนใหญ่ได้ออกมาเตือนว่าอย่าตกใจ เพราะเป็นแค่การขาดทุนทางบัญชี เนื่องจากประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ก็จะขาดทุนทางบัญชีเพราะเงินสำรองฯ มีมูลค่าน้อยลงในรูปเงินบาท แต่ในทางกลับกัน เมื่อไรที่เงินบาทอ่อนค่า ก็จะมีกำไรทางบัญชี

ในฝั่งของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็ใช้เหตุผลประมาณนี้มาอธิบายเพื่อไม่ให้สังคมเข้าใจผิด โดยเน้นว่าอย่าให้ความสำคัญมากนักกับตัวเลขขาดทุน เพราะไม่ได้เป็นการขาดทุนจริง แต่เป็นเพียงการขาดทุนจากการตีราคาเงินสำรองฯ การดูมูลค่าเงินสำรองฯ ต้องดูในรูปเงินตราต่างประเทศ ถึงจะเห็นภาพที่แท้จริง

ผมเห็นด้วยกับคำอธิบายข้างต้น เพราะการขาดทุนจากการแปลงค่าเงินสำรองฯ เป็นสกุลบาทเพื่อรายงานในงบการเงิน เป็นเพียงการขาดทุนทางบัญชี ไม่ได้มีนัยที่สำคัญอะไร ปริมาณเงินสำรองฯ ยังอยู่เท่าเดิม เวลาเงินบาทอ่อนค่าลง ตัวเลขขาดทุนนี้ก็จะค่อยๆ ลดลง จนกลายเป็นกำไรถ้าเงินบาทอ่อนค่ามาก และกลับไปกลับมาอย่างนี้

แต่ที่ผมติดใจ หลังเข้าไปดูรายงานฐานะการเงินของ ธปท. ย้อนหลัง 10 ปี จนถึงปี 2559 (งบเต็มปี 2560 ยังไม่เผยแพร่) คือ การขาดทุนจากการตีราคาเงินสำรองฯ ที่ว่านี้ กลับคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากต่อยอดขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพ ระหว่างปี 2550-2559 ธปท. มีผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงาน (ไม่รวมขาดทุนจากการตีราคาเงินสำรองฯ) รวม 705,330 ล้านบาท ถ้าเราเปรียบเทียบยอดขาดทุนนี้ กับยอดขาดทุนสะสม ณ สิ้นปี 2559 ที่ 805,835 ล้านบาท จะเห็นชัดเจนว่าต้นเหตุหลักของยอดขาดทุนสะสม เป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงาน ไม่ใช่การตีราคาเงินสำรองฯ

แล้วทำไม ธปท. ถึงขาดทุนจากการดำเนินงานมากขนาดนี้?

ผมเชื่อว่าปัญหาหลักไม่ได้เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด แต่น่าจะเป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องการเอาเงินทุนสำรองฯ ไปลงทุน ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน (ซึ่งเป็นรายได้หลักของ ธปท.) ต่ำกว่าต้นทุนจากการดูดซับสภาพคล่องเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน (รายจ่ายหลัก) ยิ่งช่วงไหนที่เงินไหลเข้ามากๆ ธปท. ก็ยิ่งต้องออกพันธบัตรจำนวนมากขึ้น เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน ตัวเลขขาดทุนก็จะยิ่งสูง เพราะรายได้ที่เกิดจากการเอาเงินที่ไหลเข้าไปลงทุน ไม่พอที่จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากการดูดซับเงินที่ไหลเข้า

จากการคำนวณของผม ระหว่างปี 2550-2559 ธปท. ขาดทุนจากการดูแลสภาพคล่องในส่วนของดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยจ่ายสูงกว่าดอกเบี้ยรับ) ถึง 447,477 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ ยังไม่รวมการขาดทุนที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน

จริงอยู่ ภาวะการขาดทุนของธนาคารกลางไม่เหมือนกับของภาคธุรกิจ และไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะธนาคารกลางไม่ใช่องค์กรที่แสวงหากำไร และถึงแม้ธนาคารกลางจะขาดทุน ก็ยังสามารถดำเนินนโยบายการเงินต่อไปได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค แต่การขาดทุนจำนวนมากๆ และติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการรักษาความน่าเชื่อถือ และความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายในระยะยาว

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้เกี่ยวข้องควรทบทวนนโยบายการลงทุนของเงินสำรองฯ โดยยอมให้ ธปท. นำเงินสำรองฯ ไปลงทุนในตราสารที่หลากหลายขึ้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว และถือเป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัว มิเช่นนั้น ธปท. ก็จะประสบภาวะขาดทุนจากการดูแลสภาพคล่องต่อเนื่องไปอีก ตราบใดที่เงินยังไหลเข้า และดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าต่างประเทศ

นอกจากนั้น ในภาวะที่เงินสำรองฯ มีมากเกินความจำเป็นอย่างในปัจจุบัน น่าจะถึงเวลาแล้วเช่นกันที่เราควรทบทวนเรื่องการโอนเงินสำรองฯ ส่วนหนึ่งไปจัดตั้งเป็น Sovereign Wealth Fund หรือ กองทุนความมั่งคั่งของประเทศ อย่างที่หลายประเทศทำกัน เพื่อเพิ่มโอกาสและความคล่องตัวในการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น และลดการขาดทุนของ ธปท.