สตรีผู้ประสานสาม:ราชการ-ทหาร-เอ็นจีโอ

สตรีผู้ประสานสาม:ราชการ-ทหาร-เอ็นจีโอ

พระไพศาล วิสาโล ยกย่องเธอเป็น “ศรีของปวงประชา” ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ ขณะนี้อายุ 87 ปี ตลอดชีวิตการทำงานสามารถผสมผสานข้อดี

ในวิถีข้าราชการพลเรือน จิตวิญญาณเสนาธิการทหาร และเอ็นจีโอ เข้าด้วยกัน 

สร้างผลงานมากมายตั้งแต่ก่อนและในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ในฐานะนักคิดนักทำมายาวนาน เพื่อประโยชน์สุขประชาชนในด้านสิทธิและเสรีภาพจากฐานความคิดด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกลุ่มเสียเปรียบด้อยโอกาสประสบภัยทางความคิด ทางการเมือง และต่อมาในกลุ่มประชากรเด็กผู้หญิงและผู้สูงอายุ

ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของเธออย่างคับคั่งเมื่อ 26 เม.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สตรีผู้ประสานสาม:ราชการ-ทหาร-เอ็นจีโอ

สำหรับ ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ การคิดแบบราชการไม่ได้เป็น ตลกร้าย” การคิดแบบเสนาธิการทหารก็ไม่ได้เป็นเพียง “เผด็จการ” การคิดแบบเอ็นจีโอก็หาได้เป็นแค่ การหาทุนจากต่างชาติไม่

ระหว่างรับราชการ 30 ปี ตั้งแต่อายุ 22 เมื่อปี 2496 และลาออกเมื่ออายุ 52 จากตำแหน่งหัวหน้ากองวิชาการ กรมวิเทศสหการ ในสังกัด สนง.คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศรีสว่างได้เริ่มใช้ข้อดีแบบราชการ เช่นการทำงานอย่างมีแผนมีข้อมูลมีเป้าที่ระบุได้ มีการติดตามผลและการทำรายงานเอกสาร มีการติดต่อประสานในเนื้องานกับตัวบุคคลในทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะการมีต้นทุนดีทางสังคมและความน่าเชื่อถือทางความมั่นคงในฐานะ “ข้าราชการ” ไปบุกเบิกริเริ่มทำงานในแบบที่มิใช่ราชการ (non-governmental organization NGO) หรือภาคประชาสังคมโดยเธอทำต่อเนื่องมาตั้งแต่นั้น

หากว่าแบบราชการซึ่งมักติดยึดอยู่กับกฎระเบียบแบบแผนต่างๆ มีการรวมศูนย์อำนาจไม่ค่อยตอบสนองความต้องการประชาชนมักใช้ระเบียบควบคุมแบบหยุมหยิม ยิ่งระบบราชการมีลักษณะแบบนี้มากเพียงใดยิ่งทำให้ประชาชนอ่อนแอมากขึ้น ศรีสว่าง ให้สัมภาษณ์ปี 2542 เกี่ยวกับเอ็นจีโอว่า “ภาพรวมของบรรยากาศทำงานกับเอ็นจีโอที่ดีคือ ให้อิสระกับผู้คนในการทำงาน ให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีอิสระที่จะทำอะไรอย่างมีการตัดสินใจด้วยตัวเองระดับหนึ่ง... อีกส่วนหนึ่งก็เป็นธรรมชาติของการทำงาน เพราะว่าผู้ที่เป็นกรรมการหรือระดับบริหารไม่ค่อยมีเวลา ดังนั้นเราก็ค่อนข้างจะปล่อยให้เจ้าหน้าที่เขาคิดค้นเอง ตรงนี้ก็เป็นส่วนดี”

ผลงานของเอ็นจีโอนามว่า กลุ่มศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ในภาวะวิกฤติการเมือง 6 ตุลา ที่พระไพศาลเล่าถึง โดยท่านเองขณะนั้นเป็นนักศึกษา เป็นเอ็นจีโอใน กศส.คนหนึ่ง ที่ได้ทำงานบรรเทาและปลดทุกข์ผู้ต้องขังคดีความคิดและการเมือง เช่น เยี่ยมนักโทษ จัดหาข้าวของให้ ที่ประกันได้ก็ประกัน ที่ประกันไม่ได้เช่นกลุ่มคุณสุธรรม แสงประทุม ต่อมาก็รณรงค์นิรโทษกรรม เป็นองค์กรเดียวที่ขณะนั้นทำงานนี้ได้อย่างเปิดเผยและต่างประเทศเชื่อถือรับฟัง ก็ด้วยอาศัยที่ปรึกษาและ บารมีข้าราชการอย่าง ศรีสว่าง ผู้มีวิสัยทัศน์ในด้านสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนมีบุคลิกซื่อตรง เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในหมู่ผู้ได้รู้จักและทำงานด้วยในทุกระดับ ประสานงานได้กับทุกฝ่าย ทั้งราชการพลเรือนและทหารที่รับฟังและเข้าใจ ถึงขนาดสร้างประวัติศาสตร์คดีคอมมิวนิสต์คดีเดียวที่สั่งไม่ฟ้องเมื่อเจ้าหน้าที่ กศส.ถูกจับคดีนี้ขณะปฏิบัติงานหาข้อมูลสิทธิมนุษยชนในภาคใต้

โครงการแด่น้องคนเล็ก เพราะมีเด็กไทยตายเป็นล้านเพราะขาดสารอาหาร และต่อมาแด่น้องผู้หิวโหย ในช่วงปี 2520-2522 ซึ่งเติบใหญ่มาเป็นมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และสร้างคนอย่าง “ครูหยุย” ก็เริ่มมาจากนักคิดนักทำที่มีหนึ่งเดียวศรีสว่างคนนี้นี่เอง

สัมภาษณ์เมื่อ 28 ส.ค.2543 แสดงถึงการใช้สถิติข้อมูลเศรษฐกิจสังคมอย่างมีจิตวิญญาณ เป็นนักวางแผนเบื้องหลังแบบเสนาธิการทหาร (ศรีสว่างได้รับพระราชทานเข็มแสนยาธิปัตย์จากวิทยาลัยการทัพบก พ.ศ.2517 วปอ.รุ่น 24 พ.ศ.2524) และจิตใจเปี่ยมความกรุณาผู้ด้อยโอกาสทางการเมืองทางเศรษฐกิจโดยได้มีบุคคลอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชักนำมาทำงานเพื่อสังคม มีว่า "...ไทยส่งออกข้าวมีชื่อเสียง แต่เด็กของเราปล่อยให้อดอยากอย่างนี้ได้อย่างไร อันนี้คือจุดมุ่งหมาย หรืออย่างกรณีไปช่วย กศส...ที่ไม่ได้อยู่มาตั้งแต่ต้น มีคนบอกกล่าวไปถึงอาจารย์ป๋วยซึ่งตอนนั้นลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ แล้วบอกไปว่าไม่มีใครช่วยงานตรงนี้คนทำงานมีไม่กี่คน อาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหาช่วยหน่อย อาจารย์ป๋วยเขียนจดหมายมาจากอังกฤษบอกว่าให้ไปช่วยเขาหน่อยนั่นแหละจึงเข้าไปช่วย กศส. แล้วเลยเตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่ ไปถึงเรื่อง human rights เมื่อก่อนคนไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ human rights ในเรื่องเด็ก ไม่ว่าเด็กขาดอาหาร คนยากคนจนด้อยโอกาส ทีนี้พอมาและได้รับช่วยกรณีผลกระทบ 6 ตุลา มันเป็น human rights ทางเสรีภาพทางความคิดทางการเมืองมันมีฐานของ human rights ที่พ้นจากความหิวโหย"

แผนพัฒนาสตรีทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองสุขภาพที่เริ่มมีครั้งแรกในแผนพัฒนาฉบับ 4 (พ.ศ.2520-2524) ตอบสนองกระแสทศวรรษสตรีสหประชาชาติ ที่สตรีมิใช่เพียงผู้รับบริการคุมกำเนิดดังปรากฏในแผนพัฒนาฉบับ 3 ก็ด้วย ศรีสว่าง หัวเรือใหญ่รวบรวมคณะทำงานมาทำแผนดังกล่าวในสภาพไร้สำนักงาน ไร้บุคลากร เป็นกิจจะลักษณะและเป็นเพียงคณะกรรมการเฉพาะกิจ (ad hoc) แต่ก็ทำสำเร็จจนได้

ขัตติยา กรรณสูต นักวิชาการอาวุโสตั้งข้อสังเกตว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของนายกฯ ลุงตู่ก็ทำแนวเดียวกับแผนพัฒนาสตรีระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2524-2544) ที่คณะทำงานของศรีสว่างทำมาก่อน โดยแตกออกมาเป็นแผนย่อย 5 ปี แบบเดียวกันเลย

เมื่อกระทรวงสาธารณสุขยกร่างทำแผน 20 ปี พ.ศ.2526 ด้านผู้สูงอายุนับเป็นครั้งสำคัญอีกหนึ่งที่ศรีสว่างนำเอาการเป็นนักคิดนักปฏิบัติการแบบราชการ-ทหาร-เอ็นจีโอ มาใช้อย่างเต็มที่

ผู้สนใจจะติดตามได้อีกชีวิตการทำงานของ ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ มีผู้เลื่อมใสศรัทธากำลังรวมตัวกันบันทึกรวบรวม