มหาสงครามสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศล้างจักรวาล

มหาสงครามสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศล้างจักรวาล

มหาสงครามสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศล้างจักรวาล

ขณะที่สงครามการค้าและการลงทุนกำลังร้อนแรง หลายประเทศก็พยายามหยิบยกประเด็นทางการเงินขึ้นมาเป็นข้อต่อรองมากขึ้นเรื่อยๆ ในฝั่งนโยบายการเงิน เราเริ่มได้ยินบางประเทศพูดถึงการนำ “สกุลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ” (Reserve Currency) ขึ้นมาเป็นประเด็นต่อรอง ซึ่งน่าสนใจว่าแนวโน้มนี้จะส่งผลอย่างไรกับตลาดการเงิน และคนไทยอย่างเราควรเตรียมพร้อมและเตรียมปรับตัวอย่างไร

ประเด็นนี้ค่อนข้างใหญ่และถ้าเกิดขึ้นจะเป็นประเด็นที่เปลี่ยนแปลงโลกการเงินแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันการถือครองตะกร้าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกมีขนาดถึง 11 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่พอๆกับจีดีพีของจีนทั้งประเทศ แต่กลับมีความ “ผิดเพี้ยน” ทางองค์ประกอบอยู่ โดยปัจจุบันธนาคารกลางส่วนใหญ่จะถือเพียงเงินดอลลาร์หรือยูโรเท่านั้นโดยไม่ได้สนใจว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเกี่ยวข้องกับสกุลเงินไหนมากกว่ากัน

เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะ “มนุษย์มักไม่ปรับตัวถ้าไม่มีแรงกระตุ้น”

ทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็น “สกุลเงินตราต่างประเทศ” แท้จริงนั้นเกิดขึ้นหลังจากการยกเลิกการตรึงราคาทองคำกับดอลลาร์ในช่วงปี 1970 ในช่วงแรก เงินดอลลาร์จึงเป็นสกุลเงินหลักที่ธนาคารกลางถือไว้เป็นทุนสำรองแทนทองคำราว 60% ตามด้วยเงินปอนด์ 20% ต่อจากนั้นมีจุดเปลี่ยนสำคัญอีกราวสามครั้ง คือช่วงการล่มสลายของ European Exchange Rate Mechanism ซึ่งเป็นการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนในยุโรป ส่งผลให้ธนาคารกลางต้อง “ย้ายไปถือเงินดอลลาร์” เป็นทุนสำรองแทนเกือบทั้งหมด ครั้งที่สองและสามเป็นการ “ลดการถือดอลลาร์” ในช่วงปี 2002 จากการเริ่มต้นใช้สกุลเงินยูโร ตามด้วยการลดการถือครองดอลลาร์ลงเหลือ 60% อีกครั้งในช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 ที่ภาคการเงินสหรัฐเป็นต้นเหตุของปัญหา

 ในปัจจุบันสกุลเงินหลักที่ IMF ยกให้เป็น Special Drawing Right (SDR) หรือสกุลเงินที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศสามารถหยิบยืมมาใช้เมื่อประเทศประสปัญหาการเงินได้ มาจากการผสมระหว่างห้าสกุลเงิน ได้แก่ ดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ เยน และหยวน โดยในการคำนวน SDR จะใช้ 40% ดอลลาร์ 8% ปอน์ 7% เยน 33% ยูโร และ 12% หยวน แต่พบว่าการถือครองสกุลเงินหลักก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงถือแค่ดอลลาร์และยูโร แทบไม่มีการถือครองสกุลเงินอื่น

งานวิจัยล่าสุดของ IMF โดย Camilo Tovar และ Tania Mohd Nor คำนวนหาปริมาณการถือเงินทุนสำรองในแต่ละสกุลเงินที่ควรเป็น และคาดว่าเงินหยวนกำลังจะเปลี่ยนระบบทุนสำรองและตลาดการเงินในไม่ช้า

นักวิจัยทั้งคู่ ได้คำนวณเงินทุนสำรองในแต่ละประเทศตามขนาดและความสำคัญของเศรษฐกิจ พบว่าไม่ว่าแบ่งตะกร้าแบบไหน ทุนสำรองระหว่างประเทศก็น่าจะอยู่ที่ระดับ 40% ดอลลาร์ 20% ยูโรและ 30% หยวนเป็นอย่างน้อย ความน่าสนใจของงานวิจัยนี้คือการชี้ให้เห็นว่าธนาคารกลางทั่วโลก “ขาดการกระจาย” การถือครองสกุลเงินตราต่างประเทศ และในอนาคตควรเปลี่ยนจากระบบสองสกุลเงิน มาเป็นระบบสามสกุลเงิน

ตอบคำถามที่ว่า จีนสามารถงัดเอาการถือครองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในสกุลเงินดอลลาร์ขึ้นมาเป็นตัวต่อรองกับสหรัฐได้จริงไหม ก็ต้องตอบว่า “จริงแน่นอน” ครับ

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จะส่งผลกระทบทั่วทั้งตลาดการเงินแน่นอน ปริมาณการถือเงินหยวนที่มีเพียงราว 1% ของทุนสำรองระหว่างประเทศปัจจุบัน ถ้าควรเพิ่มขึ้นไปเป็น 30% หรือราว 3 ล้านล้านดอลลาร์ ในระยะยาวเงินหยวนก็มีโอกาสที่จะแข็งค่าต่อแน่นอน สวนทางกับเงินดอลลาร์และยูโรที่มีโอกาสอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชีย

คำถามที่แท้จริงจึงควรจะเป็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว

ในกรณีพื้นฐาน แน่นอนว่าไม่มีดราม่าอย่างที่หลายคนคิด

การเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นได้ยากทั้งจาก ขั้นตอนและความผันผวนของตลาด นอกจากนี้ยังต้องมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยน ซึ่งมีปัจจัยเร่งคือ การค้า การลงทุน และการเมืองระหว่างประเทศ โดยผมเชื่อว่าจีนจะต้องเร่งสร้างพันธมิตรทางการเงินก่อน ด้วยการตั้งตัวเป็นศูนย์กลางการเงินอีกที่ของโลก หลังจากนั้น ประเทศต่างๆ ถึงจะสบายใจที่จะปรับสกุลเงินทุนสำรองมาเป็นเงินหยวน ซึ่งอาจกินเวลานาน

ที่ต้องระวังคือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้กรณีเดียวคือวิกฤตการเงิน

ในอนาคตอันใกล้ถ้าเกิดวิกฤติในฝั่งยุโรปหรืออเมริกาก่อน ธนาคารกลางทั่วโลกอาจต้องวิ่งเข้ามาซื้อหยวนเร็วกว่าที่คิด แต่ในทางกลับกันถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในจีน ก็มีความเป็นไปได้ที่ระบบทุนสำรองสามสกุลเงินอาจไม่เกิดขึ้นตามทฤษฏี

ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ไม่แปลกที่เราจะได้ยินการผูกเรื่องระหว่างการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศกับเรื่องสงครามการค้าหรือการลงทุน เพราะในความจริงแล้วทั้งหมดคือสงครามเดียวกัน ประเทศมหาอำนาจกำลังแย่งชิงความเป็นใหญ่ในวงการการเมืองและเศรษฐกิจโลก และเวทีนี้คงจะไม่มีใครยอมเป็นที่สองแน่นอน