ทำไมญี่ปุ่นปฏิรูปประเทศได้เร็วกว่าและมากกว่าไทย

ทำไมญี่ปุ่นปฏิรูปประเทศได้เร็วกว่าและมากกว่าไทย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศตะวันออกประเทศเดียวที่ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองสังคมได้สำเร็จ จนกลายเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ร้อยปีที่แล้ว

โดยใช้เวลาปฏิรูปประเทศอย่างลึกซึ้งและกว้างแบบตะวันตกได้ในระยะเวลาเพียงราว 50 ปี (ค.ศ.1868-1912) ในยุคที่เรียกว่าการปฏิรูปเมจิ

ญี่ปุ่นเปิดรับการค้าขายแบบเสรีกับตะวันตกและปฏิรูปประเทศในยุคเดียวกับการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 ของไทย แต่ทำไมญี่ปุ่นซึ่งมีพื้นที่ราว 72% ของไทย แต่มีประชากรมากกว่าไทยราวเท่าตัว จึงปฏิรูปได้ผลจริงจังเร็วกว่าและมากกว่าไทยมาก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศเจ้าขุนมูลนายที่มีระบบเศรษฐกิจการเมือง วัฒนธรรม ที่เผด็จการจารีตนิยม ประเพณีนิยม ทหารนิยม ฯลฯ ที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปทุนนิยมอุตสาหกรรมคล้ายๆ กับไทยและประเทศอื่นๆ ทั้งเรื่องการแบ่งชนชั้นวรรณะยังเข้มงวดกว่าไทยด้วย

ที่ญี่ปุ่นปฏิรูปได้เก่งกว่าคงจะมีปัจจัยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการเมืองหลายอย่างที่ซับซ้อนพอสมควร แต่ก็มีบางเรื่องที่เห็นได้ชัด น่าจะยกมาเป็นตัวอย่างและบทเรียนได้

ข้อแรก คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมสนใจการเรียนรู้ การอ่าน การแก้ปัญหาและการพัฒนาตัวเองมานานแล้ว แม้แต่ในยุคทรราชโชกุนโตกุงาวะที่ปิดประเทศ (ไม่ต้อนรับการคบกับตะวันตกยกเว้นการค้าบางอย่างกับดัตช์) มา 250 ปี ก็มีประชากรชายที่รู้หนังสือคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าประเทศในยุโรปในยุคสมัยเดียวกัน ส่วนใหญ่คือพวกชนชั้นซามูไรซึ่งเป็นทั้งขุนนาง ข้าราชการ และทหาร ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะญี่ปุ่นมีการปกครองแบบกึ่งกระจายอำนาจให้แคว้นต่างๆ สองร้อยกว่าแคว้นเป็นอิสระบริหารจัดการตนเองได้ในระดับหนึ่ง แคว้นที่ใหญ่และมีชนชั้นนำหัวก้าวหน้ามากกว่ารัฐบาลโชกุนที่ศูนย์กลาง จึงสามารถพัฒนาตนเองได้เร็ว

ปัญญาชนชาวญี่ปุ่นพยายามศึกษาเรียนรู้จากประเทศอื่นเพื่อดัดแปลงมาใช้ให้เหมาะกับสังคมตนเองมาตลอด เช่น ปรับคติขงจื๊อ ศาสนาพุทธ ให้เข้ากับคติชินโต คติบูชิโดของชนชั้นซามูไร ซึ่งถือว่ามีเกียรติสูงสุด ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมยกย่องจงรักภักดีระบบจักรพรรดิ ต่อแคว้นและประเทศ เมื่อ 150 ปีที่แล้วมหาอำนาจตะวันตกที่มีเรือกลไฟและปืนใหญ่ที่มีแสนยานุภาพเหนือกว่าเข้ามาบีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศค้าขายเสรี เมื่อรู้ว่าสู้ฝรั่งที่เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกว่าไม่ได้ ปัญญาชนญี่ปุ่นกระตือรือร้นที่จะเรียนวิทยาการจากตะวันตก ทั้งเรื่องการทหาร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การบริการจัดการทางเศรษฐกิจการเมือง การศึกษา และสังคมวัฒนธรรม รัฐบาลส่งคนไปดูงานไปเรียนวิทยาการตะวันตก (บางคนก็ขวนขวายไปเอง) จ้างผู้เชี่ยวชาญตะวันตกมาทำงาน มาสอน มีการแปลหนังสือจากตะวันตก การลงทุนเรื่องการศึกษา การพิมพ์หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ อย่างเอาจริงเอาจังทั้งเรื่องวิทยาการตะวันตกและเรื่องจริยธรรม หนังสือแนวการพัฒนาตนเอง ปรัชญาการเมืองประชาธิปไตยบางเล่มขายได้หลายแสนหรือนับล้านเล่ม (ในยุคเริ่มปฏิรูปญี่ปุ่นน่าจะมีประชากรสัก 30 ล้านคน)

ข้อที่ 2 คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่เน้นหน้าที่ความรับผิดชอบ ความมีเกียรติในการทำงานเพื่อกลุ่ม เพื่อองค์กร เพื่อแคว้น เพื่อประเทศ มากกว่าการแสวงหาความมั่งคั่งส่วนบุคคล ชนชั้นผู้ปกครอง ชาวนา ช่างฝีมือ พ่อค้า ฯลฯ สนใจตั้งใจที่จะพัฒนาญี่ปุ่นให้เป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและเข้มแข็ง เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นหรือถูกมหาอำนาจตะวันตกบีบให้ต้องทำสัญญาที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายเสียเปรียบ การมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อส่วนรวม ทำให้แม้ชาวญี่ปุ่นในยุคเปลี่ยนผ่านจะขัดแย้งทางความคิดกันอย่างรุนแรง ถึงขนาดลอบสังหารฝ่ายที่คิดต่างและทำสงครามระหว่างกลุ่มแคว้นต่างๆ แต่พวกเขาก็เป็นพวกนักปฏิบัตินิยม พยายามเจรจา หาทางออกเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมร่วมกัน จนสามารถควบคุมความขัดแย้งรุนแรงภายในประเทศได้ (อ่านเรียวมะ ซามูไร ผู้นำการเปลี่ยนแปลง, มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม)

ข้อที่ 3 การมีอุดมการณ์เป้าหมายเพื่อส่วนรวม ทำให้แม้ญี่ปุ่นจะพัฒนามาจากระบบเผด็จการเจ้าขุนมูลนาย ที่เจ้านายมีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งการลงมาเป็นทอดๆ แต่พวกเขาก็มีระบบการปรึกษาหารือผ่านคณะที่ปรึกษาสภาผู้อาวุโส สภาผู้ครองแคว้น และการตัดสินใจแบบรวมหมู่รูปแบบต่างๆ การล้มระบบนายพลใหญ่ โชกุนตระกูลโตกูงาวะและคืนอำนาจให้จักรพรรดิในยุคการปฏิรูปเมจินั้น แท้จริงจักรพรรดิเป็นเพียงประมุขในทางสัญลักษณ์เท่านั้น ผู้บริหารประเทศจริงๆ คือคณะเสนาบดี ซึ่งมาจากผู้นำแคว้นใหญ่ 2-3 แคว้นที่ร่วมมือกันทำสงครามบีบบังคับให้โชกุนต้องลาออกจากตำแหน่ง การปกครองของญี่ปุ่นในยุคปฏิรูปจึงค่อนข้างเป็นแบบรวมหมู่ แม้จะมีการแข่งขันและขัดแย้งในเรื่องตัวบุคคลและความคิดนโยบายบ้าง แต่พวกเขาก็ร่วมมือกันทำงานไปในทิศทางใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง

ข้อที่ 4 ญี่ปุ่นมองเรื่องการปฏิรูปทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา วัฒนธรรม อย่างครบวงจร และประชาชน เช่น พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวนารวย ปัญญาชน มีบทบาทในการพัฒนาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา เรื่องอื่นๆ มาก มีการตั้งมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนในทุกสาขาตั้งแต่ยุค 150 ที่แล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจก็ทำทั้งการสร้างอุตสาหกรรมเหล็ก การต่อเรือ การผลิตอาวุธสมัยใหม่ การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรมทอผ้าเพื่อการส่งออก การปฏิรูปการคลัง การธนาคาร การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร ระบบบริหารราชการแผ่นดิน ยกเลิกระบบเจ้าแคว้นและชนชั้นซามูไร เป็นการบริหารส่วนภูมิภาคและการเกณฑ์ทหารจากภาคประชาชนทุกชนชั้น มีรัฐธรรมนูญ มีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและการทำงานแบบรวมหมู่ในระดับหนึ่ง

บางอย่างไทยและประเทศอื่นก็ทำคล้ายกัน แต่ไม่ได้ปฏิรูปอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง รวดเร็ว เอาจริง รวมทั้งไม่ได้กระจายความรู้และทรัพย์สินรายได้สู่ประชาชนทั้งประเทศมากเท่ากับญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นในยุค 150 ปีที่แล้วก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ต้องเผชิญและแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณการคลังอยู่มาก (ญี่ปุ่นมีปัญหาภัยพิบัติ ปัญหาความแห้งแล้ง ผลผลิตเสียหายในบางปีด้วย) แต่ผู้นำญี่ปุ่นในยุคนั้นมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล กล้าปฏิรูปภาษีทั้งระบบ กล้ากู้ยืมธนาคารต่างชาติ ออกพันธบัตรกู้ยืมจากประชาชน และรัฐบาลมุ่งทำงานเพื่อส่วนรวมมากกว่าที่จะทุจริตฉ้อฉลเห็นแก่ตัวมากเหมือนในประเทศอื่นๆ

ความสำเร็จในการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมทันฝรั่งอาจจะนำญี่ปุ่นไปสู่ลัทธิทหาร ลัทธิจักรวรรดินิยม และการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา และแม้ญี่ปุ่นจะพ่ายแพ้เสียหายยับเยินในสงครามครั้งนั้น แต่ญี่ปุ่นก็สามารถฟื้นการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วอีกครั้ง เพราะพวกเขามีการปฏิรูปประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการศึกษาและวัฒนธรรมการทำงานรวมหมู่เพื่อส่วนรวมมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว