ระบบการค้า การลงทุนระหว่างประเทศภายใต้ทุนยักษ์ข้ามชาติ***

ระบบการค้า การลงทุนระหว่างประเทศภายใต้ทุนยักษ์ข้ามชาติ***

ระบบการค้าโลก การลงทุนระหว่างประเทศภายใต้ทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโครงสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมากในระบบทุนนิยมโลก

ทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเหล่านี้มักเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยีผ่านระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการสร้างกำแพงกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้โดยง่าย

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้พลิกผันวิถีการทำธุรกิจ วิถีการผลิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคและนักลงทุน ทำให้ระบบการค้าโลกและการลงทุนระหว่างประเทศแปรเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

การทำลายล้างผ่านการสร้างสรรค์นี้ได้ทำให้สิ่งเก่าและวิถีแบบเก่าถูกทำลายลงผ่านการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่และวิถีใหม่ที่เข้ามาแทนที่

“ทุน” ในรูปของบริษัทต่างแข่งขันกันสะสมทุนและขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด เป้าหมายของ “ทุนยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี” เหล่านี้” คือ การสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง (disruption) ผ่านการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่สามารถทำลายระบบตลาดแบบเก่าและทุนคู่แข่งลงอย่างสิ้นเชิง การสร้างระบบเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบหรือประคับประคองเพื่อให้เกิดการปรับตัวจึงมีความสำคัญในมิติการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและดูแลไม่ให้เกิดปัญหาทางสังคมหรือการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงพื้นที่ดิจิทัล (digital platform) เครื่องมือ (tools) และ การเข้าถึงเทคโนโลยี (affordance of technology) อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยปรกติ เทคโนโลยีเหล่านี้มักมีพลวัตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว การส่งสัญญาณให้ทุกคนต้องปรับตัวตลอดเวลาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง

 องค์ประกอบของระบบการค้า การลงทุนระหว่างประเทศเหล่านี้ได้สร้างความสัมพันธ์ใหม่ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระหว่าง ความเสี่ยง นวัตกรรม ความล้มเหลว และภาวะอนาคต นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังเข้ามามีบทบาทต่อทั้งการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมในระดับปัจเจกไปจนถึงสร้างเงื่อนไขทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศใหม่ และยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในระดับกว้าง เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำลายธุรกิจเก่า โครงสร้างการทำธุรกิจแบบเก่าและตัดธุรกิจคนกลาง สร้างธุรกิจใหม่ๆและโอกาสใหม่แต่จะเป็นกิจการที่ใช้แรงงานน้อยใช้เทคโนโลยีสูง จึงอาจเป็นการเติบโตและขยายตัวที่ไม่มีการจ้างงานมากนัก หากโครงสร้างไม่มีอำนาจผูกขาดแข็งตัวเกินไป สังคมไทยควรจะเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้นจากเทคโนโลยี Blockchain

เทคโนโลยี Blockchain จะทำให้กิจการขนาดเล็กที่ปรับตัวได้เร็วแข่งกับยักษ์ใหญ่ได้ และทำให้เกิดประชาธิปไตยทางตรง เทคโนโลยีนี้จะลดต้นทุนในการ process ข้อมูล (Reduction of Cost)สมาชิกทุกคน(หรือองค์กร)แชร์ข้อมูลกัน (Shared Transactions) ลดความผิดพลาด (Reduction of Errors) ระบบปรับตัวรองรับสถานการณ์ได้ (Resilience) มีความปลอดภัยสูง (Secure) และ ที่สำคัญมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ (Auditability)

หากทุนขนาดใหญ่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม นวัตกรรมนั้นจะถูกนำไปใช้สร้างกำไร ทำให้ทุนที่มีนวัตกรรมสามารถเข้ามาเป็นผู้ผูกขาดในตลาดได้ในระยะหนึ่งจนกว่าทุนอื่นจะลอกหรือเลียนแบบนวัตกรรมดังกล่าวได้ กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการละทิ้งวิธีการใช้แรงงาน การผลิต การกระจายสินค้าแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนเทคโนโลยี โครงสร้างทางการค้า การลงทุนและสังคม รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมแบบเดิมด้วย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการหรือนโยบายที่ส่งเสริมให้ SME สามารถพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งทุนยักษ์ใหญ่และกำกับปฏิสัมพันธ์ในสังคมให้เหมาะสมผ่านระบบการศึกษา นายทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ยังกว้านซื้อธุรกิจใหม่รายย่อยที่ทำท่าว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ทำให้อำนาจผูกขาดของทุนนิยมยุคดิจิทัลกระจุกอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆ และมีความจำเป็นในการต้องมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดและบังคับใช้อย่างเสมอภาค

ต้องมียุทธศาสตร์ในระดับประเทศและระดับองค์กรในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ กลยุทธวิธีในการปรับตัวให้สอดรับกับพลวัต

ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ยังคงเป็นกระแสหลักในการครอบงำเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ขณะที่การปะทะกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านยังคงดำเนินต่อไป มีแนวโน้มเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นในบางมิติ เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน สิทธิผู้บริโภค เป็นต้น

ในศตวรรษที่โลกเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ภัยพิบัติ ภาวะโลกร้อนคุกคามมนุษยชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การผลิตและวิถีชีวิตแบบทุนนิยมกำลังถูกตีกรอบด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคมและสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งกว่าสมัยใดๆ การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการพัฒนากำลังปรากฏเห็นชัดขึ้นตามลำดับ “มนุษย์” และ “คุณภาพชีวิต” ควรกลายเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น แต่พลังผลักดัน ในเรื่องดังกล่าวยังคงอ่อนล้าอยู่

ขณะที่ทุนนิยมแบบระบบตลาดมีปัญหาวิกฤติเกิดขึ้นเป็นระยะๆ อย่างวิกฤติทุนนิยมโลกครั้งล่าสุด ก็เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ได้เกิดวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพร์มขึ้นในปี พ.ศ.2552 และ วิกฤตการณ์ซับไพร์มดังกล่าวได้ลุกลามทำให้ปัญหาหนี้สินของสถาบันการเงินและหนี้ภาครัฐในยุโรปมีความซับซ้อนมากขึ้น เศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของ “เงินทุน” และ “ทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ” เงินทุนซึ่งไม่รู้จักเชื้อชาติ สัญชาติ ระบบการปกครองหรือแม้แต่อาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่ง

มันถูกขับเคลื่อนโดยแรงแห่งการแสวงหากำไร ผลประโยชน์และการขยายตัวอย่างไร้ขอบเขตใน 2 ศตวรรษที่ผ่านมา พลังขับเคลื่อนของระบบทุนนิยมเคยถูกท้าทายโดยระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แล้วพลังของระบบทุนนิยมก็ปิดฉากความรุ่งโรจน์ของสำนักมาร์กซิสลงในช่วงรอยต่อของศตวรรษที่ 20 กับ 21 ระบบทุนนิยมถูกกล่าวหาว่า เป็นตัวการก่อให้เกิด ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการกระจายความมั่งคั่ง ขณะที่ระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ล้มเหลวก็ทำให้เกิดการกระจายตัวของความยากจน

ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างจีนได้เปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดบวกทุนนิยมโดยรัฐ สร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสะสมทุนจนขยายการลงทุนและซื้อกิจการไปทั่วโลก นอกเหนือจากการเกินดุลกับประเทศตะวันตกจำนวนมาก จนล่าสุด นำมาสู่ ความตึงเครียดทางการค้าและข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ระบบการค้าโลก การลงทุนระหว่างประเทศล้วนถูกกำหนดโดยทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่ว่าของสหรัฐอเมริกาก็ดี จีนก็ดี ยุโรปก็ดี ล้วนได้รับอิทธิพลจากทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติไม่น้อยเลยทีเดียว

ระบบเศรษฐกิจไทยอาจถูก “ยึดอำนาจ” โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ภายในและทุนข้ามชาติ หากไม่จัดระเบียบหรือปฏิรูปเศรษฐกิจให้มี ความเป็นประชาธิปไตย และ ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีที่เป็นธรรม การบริหารนโยบายเศรษฐกิจขาดความต่อเนื่องและไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์เนื่องจากปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง คนจำนวนไม่น้อยวิตกกังวลเรื่องการรวมศูนย์อำนาจและปัญหาธรรมาภิบาลในสังคมไทย แต่คนจำนวนไม่น้อยกับหวั่นไหวกับความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลจากภาวะ รัฐซ้อนรัฐ มากกว่า

 *** ชื่อเต็ม: 

ระบบการค้าโลกและการลงทุนระหว่างประเทศภายใต้ทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ