“Search for Yield” ผลข้างเคียงของนักลงทุนไทยในยุคดอกเบี้ยต่ำ

“Search for Yield” ผลข้างเคียงของนักลงทุนไทยในยุคดอกเบี้ยต่ำ

“Search for Yield” ผลข้างเคียงของนักลงทุนไทยในยุคดอกเบี้ยต่ำ

ในยุคดอกเบี้ยนโยบายต่ำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน การแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่า นักลงทุนเองควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน รวมทั้งความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตน

การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ และทำให้เกิดสภาวะแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า หรือที่เรียกว่า พฤติกรรม “Search for yield”  ซึ่งก็คือ ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในอดีต (historical norm)  นักลงทุนจะมีการปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในฝั่งตลาดการเงินไทย พฤติกรรม “search for yield” ปรากฏชัดเจนมากน้อยเพียงใด? หากเลือกพิจารณาการลงทุนที่มีความเสี่ยงและเป็นที่น่าจับตามองของไทย ก็คงหนีไม่พ้นการลงทุนผ่านกองทุนรวม FIF และการลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์

จากแนวโน้มการออกไปลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนรวม FIF (Foreign Investment Fund) ซึ่งหากนับตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยเริ่มเป็นขาลงในปี 2012 จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนในกองทุนรวม FIF เพิ่มขึ้นกว่า 0.75 ล้านล้านบาท ทำให้มูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนถึง 7% ของเศรษฐกิจไทย ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเจาะลึกลงไปถึงสัดส่วนกองทุน FIF พบว่า ส่วนใหญ่กองทุน FIF มักจะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ “ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงต่ำ” อาทิ เช่น กองทุนตราสารหนี้ต่างๆ

อย่างไรตาม กองทุนเหล่านี้กลับมีความเสี่ยงเรื่อง “การกระจุกตัวของการลงทุน (Concentration Risk)” อยู่ โดย FIF ที่มีขนาดใหญ่สุด 10 อันดับแรก มีการลงทุนกระจุกในสินทรัพย์ของสหรัฐฯ กว่า 60% ซึ่งนักลงทุนอาจจะไม่ได้ตระหนักถึง ทำให้ต้องพบกับความผันผวนจากการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากสหรัฐฯเผชิญความเสี่ยงการเมือง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือแม้กระทั่งเกิดวิกฤติการเงิน

นอกจากนี้ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นของนักลงทุนไทย ยังสะท้อนจากการเติบโตของเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ที่เติบโตกว่าปีละ 19% เทียบกับ อัตราการขยายตัวเพียง 9% ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการลงทุนกับสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และดูเหมือนจะแทบไม่มีความเสี่ยงเลยจาก NPL ที่ไม่ถึง 1% ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมูลค่ารวมกันกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงซ่อนอยู่ซึ่งผู้ลงทุนอาจยังไม่ทราบ เนื่องจากสหกรณ์ส่วนมากมิได้เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบภาระหนี้ของสมาชิกและผู้ค้ำประกันได้ครบถ้วน นอกจากนี้ สหกรณ์บางแห่งยังอนุญาตให้สมาชิกทำการกู้เพิ่มเติมเพื่อชำระหนี้เก่า (rollover debt)  ตัวเลขหนี้เสียที่ต่ำของสหกรณ์ออมทรัพย์จึงอาจมิได้สะท้อนถึงความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ที่แท้จริง  อีกทั้ง สหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งมีเงินฝากจากสมาชิกไม่พอต่อความต้องการสินเชื่อ จึงกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นๆ ทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้ระยะสั้นเพื่อนำไปปล่อยกู้ระยะยาวให้แก่สมาชิก ทำให้สหกรณ์เหล่านี้มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ในขณะที่สหกรณ์บางแห่งมีเงินฝากมากกว่าความต้องการสินเชื่อ จึงนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เช่น ในปีที่ผ่านมาสหกรณ์มีการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นถึง 25%

การออกไปแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) ไม่ใช่เรื่องที่ผิดและอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าจะยังคงดำเนินต่อไปอีกสักระยะ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่นักลงทุนไทยควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนใดๆ ก็ตาม ก็คือ ความเสี่ยงและปัจจัยที่จะกระทบการลงทุน เพื่อให้การจัดพอร์ตการลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้