เรื่องของวัด ไม่ปฎิรูป ไม่ได้แล้ว

เรื่องของวัด ไม่ปฎิรูป ไม่ได้แล้ว

เรื่องของวัด ไม่ปฎิรูป ไม่ได้แล้ว

เรื่องราวของพระสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือมีพฤติกรรมนอกรีต ดื่มเหล้า เสพยา มั่วสีกา ฯลฯ กระทบต่อความรู้สึกของชาวพุทธ ตลอดมา

 

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องศาสนา แต่ขออนุญาตนำประสบการณ์จากการร่วมสร้าง ธรรมาภิบาลของบริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจ มาประยุกต์เป็นข้อเสนอ เพื่อให้องค์กรและผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในพุทธศาสนา ช่วยกันพิจารณา

 

บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน มี เจ้าของคือ ผู้ถือหุ้นส่วนรัฐวิสาหกิจ ก็มี เจ้าของคือ ประชาชนซึ่งเดือนเมษายน 2561 ที่เพิ่งผ่านไปนี้ ผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำนวนมาก ได้ไปประชุมสามัญประจำปี ขอทราบผลการดำเนินงานของบริษัท ที่ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการ หรือบอร์ด ไปดูแลแทน

 

พวกเขาซักไซร้ไล่เลียง มีคำถามและข้อสงสัยต่างๆ มากมาย คณะกรรมการและ ซีอีโอ ของบริษัท ก็ต้องตอบให้ชัดเจน เพราะเป็นคำถามของ “เจ้าของ”

 

ส่วนรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน อย่างเช่น การบินไทย ธนาคารกรุงไทย ป... ฯลฯ แม้จะถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง (ถือแทนประชาชน) ก็ตาม ก็ต้องพบกับ “เจ้าของ” จำนวนมากที่เป็นนักลงทุน เข้ามาซักถามด้วยคำถามมากมาย เช่นกัน

 

ยกเว้นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน เช่น การไฟฟ้า การรถไฟ หรือการประปา เป็นต้น รัฐวิสาหกิจประเภทนี้ แม้ประชาชนเป็นเจ้าของ แต่ไม่มีโอกาสไปกำกับดูแลได้เลย เพราะไม่มี “เวที” ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของ เข้าไปซักไซร้ไล่เลียง

 

ส่วน วัดนั้น ถ้าเราถามว่า ใครเป็นเจ้าของวัด คำตอบก็น่าจะเป็น ประชาชนอีกนั่นแหละ แต่ผู้เป็นเจ้าของ ก็ไม่มีโอกาสที่จะซักไซร้ไล่เลียงกับใคร ที่ไหน เช่นกัน

 

องค์กรใดก็ตาม ที่ เจ้าของตัวจริง ไม่มีโอกาสเข้าไปกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ และไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลต่างๆอย่างละเอียดเพื่อความโปร่งใส ย่อมมีโอกาสมากขึ้น ที่กรรมการและผู้บริหาร จะบริหารองค์กรนั้นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่โปร่งใส เพราะเขาไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง

 

แต่จะว่าไป ประชาชนอย่างเราๆ ก็วุ่นวายกับการทำมาหากิน เราไปวัดแค่ไปทำบุญ และร่วมพิธีกรรม เท่านั้น เราไม่ได้ใส่ใจจะไปใช้สิทธิของความเป็นเจ้าของอะไรมากมาย ถ้าวัดนี้เสื่อมเสีย หรือพระวัดนี้เสื่อมเสีย เราก็แค่เปลี่ยนวัด แล้วก็ไม่ทำอะไรมากไปกว่านั้น 

 

คนที่มาดูแลวัดแทนเรา เช่น กรรมการวัด หรือ มัคนายก เขามาจากไหน ผ่านการคัดเลือกมาอย่างไร เป็นคนดีหรือไม่ เราก็ไม่รู้ รวมทั้ง เจ้าอาวาส และพระสงฆ์ลูกวัด จะประพฤติหย่อนยานเช่นใด เราก็ไม่รู้จะเข้าไปจัดการอย่างไร และเราก็ไม่อยากยุ่งกับพระ

 

ผลคือพฤติกรรมน่าเศร้าของสงฆ์ เป็นข่าวหน้าหนึ่งอยู่บ่อยๆ

 

บริษัทอาจมีบอร์ด 10 คน ซึ่งผู้ถือหุ้นเป็นผู้แต่งตั้ง ถ้าทำหน้าที่ไม่ดี ผู้ถือหุ้นก็ลงคะแนนเสียงให้ออกไป แต่กรรมการวัดเป็นใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร กระบวนการแต่งตั้ง รอบคอบโปร่งใสหรือไม่ วัดผลงานกันอย่างไร มีเทอมหรือไม่ มีกระบวนการตรวจสอบที่ดีไหม ฯลฯ เหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องถามและทบทวน

 

ส่วนซีอีโอของวัดซึ่งก็คือเจ้าอาวาส ก็มีกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกันอยู่แล้ว แต่เราคงจะต้องทบทวนเช่นกัน ลองเทียบกับซีอีโอของบริษัท หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีกระบวนการคัดสรร มีตัวชี้วัดในการประเมินผลงาน สามารถเปลี่ยนตัวได้ถ้าผลงานไม่ถึงขั้น เราต้องทบทวนกระบวนการพิจารณาแต่งตั้งเจ้าอาวาส ให้ชัดเจนว่า เราต้องการคุณสมบัติอะไร คาดหวังอะไรจากท่าน หรือถ้าท่านเป็นเจ้าอาวาสจนชราภาพ หูไม่ค่อยได้ยิน ตามองไม่ค่อยเห็นแล้ว ฯลฯ ยังสมควรบริหารวัดและทรัพย์สินของวัด ต่อไปหรือไม่ เป็นต้น

 

ผมเข้าใจว่าเจ้าอาวาสโดยทั่วไป น่าจะมาจากพระสงฆ์ ซึ่งบวชมานาน และได้รับศรัทธาจากประชาชน แต่ก็ควรจะต้องถามว่า ศรัทธาเพราะท่านปฎิบัติดี สอนดี หรือว่าเพราะท่านสร้างพุทธพาณิชย์ดี 

 

แม้ท่านจะสอนดี และเป็นพระดี แต่ต้องยอมรับว่าท่านไม่มีความรู้เรื่องการบริหารทรัพย์สินและเรื่องการบริหารผู้คนจำนวนมาก จึงอาจกลายเป็นโอกาสให้คนไม่ดีเข้ามาสร้างความเสียหายได้ แล้วเราจะช่วยท่านตรงนี้ได้อย่างไร

 

ผมเคยนั่งเรือไปทำบุญตามวัดริมแม่น้ำ วัดแห่งหนึ่งวางตู้บริจาคเรียงไว้หน้าอุโบสถ 5-6 ตู้ มีสมุดใบอนุโมทนา ที่ได้ลงนามไว้แล้ว มากกว่า 10 เล่ม วางระเกะระกะอยู่ใกล้ตู้เหล่านั้น เราจะใส่เงินเท่าไรก็ไม่มีใครเห็น จะกรอกเงินจำนวนเท่าไรลงไป ใช้อนุโมทนาบัตรกี่ใบเพื่อนำไปหักภาษี ก็ไม่มีใครรู้ เห็น ไม่มีพระสักรูป หรือเจ้าหน้าที่สักคนอยู่แถวนั้น

 

มันสะท้อนว่าวัดนี้ ไม่เคยมีกระบวนการตรวจนับเงินทำบุญ เพื่อยันกับอนุโมทนาบัตรเลย ท่านจินตนาการเองก็แล้วกัน ว่าเมื่อเราหย่อนเงินทำบุญไปแล้ว อิ่มเอิบว่าได้บุญแล้ว หลังจากนั้นเกิดอะไรตามมากับเงินในตู้บริจาค แม้บางวัดจะใช้ระบบคิวอาร์โค้ดก็เถอะ ก็ไม่รู้ว่าเอาคิวอาร์ของใครมาปะไว้ อยู่ดี

 

ตรงนี้ชี้ชัดว่าต้องมีระบบจัดการ และกระบวนการตรวจสอบโดยบุคคลที่ดี มีคุณภาพ เหมือนกับที่บริษัทมีคณะกรรมการตรวจสอบ ที่มีความรู้และเป็นกรรมการอิสระ

 

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ บริษัท จะเจริญก้าวหน้าได้ นอกจากบอร์ด หรือ ซีอีโอ แล้ว ที่สำคัญมากๆก็คือพนักงาน ซึ่งเราคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน ถ้าผลงานไม่ได้ตาม เคพีไอ เราก็จ่ายเงินชดเชย แล้วให้ออก ถ้าทุจริตเราก็ไล่ออก จึงต้องถามว่า บุคลากรของวัด ซึ่งได้แก่พระสงฆ์นั้น เข้าสู่ระบบได้อย่างไร

 

คงไม่ผิด ถ้าจะกล่าวว่ากระบวนการรับ บุคลากรเข้ามาอยู่ในวัด คือเข้ามาเป็นพระสงฆ์ ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองเคร่งครัดนัก เรามักพูดกันว่าใครก็เป็นพระได้ ถ้าไม่ขัดข้อห้ามอย่างชัดเจน ในทางปฏิบัติ เราก็เลยได้พระสงฆ์จำนวนหนึ่ง ที่ประพฤตินอกรีต บางครั้งก็เข้าไปสร้างเขตอิทธิพล จนใครแตะต้องไม่ได้

 

การปฏิรูปการบริหารวัด จึงรอต่อไปไม่ได้อีกแล้ว รายละเอียดและข้อจำกัดที่จะต้องฟันฝ่า คงมีอีกมาก แต่ผมขอเสนอแนวคิดเบื้องต้นนี้เพื่อเรียกน้ำย่อย ถ้าผู้มีอำนาจโดยตรง จะรับไปขยายให้บังเกิดผล ก็จะเป็นมหากุศลอย่างแท้จริงครับ