สำรวจเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของเพื่อนบ้านอาเซียน

สำรวจเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของเพื่อนบ้านอาเซียน

ปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตเข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ

ที่ติดตามประเด็นเรื่องเสรีภาพและการส่งเสริมประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เปิดเผยรายงานด้านเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตประจำปี และพบว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต (free) ในขณะที่ กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มีเสรีภาพบางส่วน (partly free) ส่วนเมียนมาและเวียดนามได้รับการประเมินว่าไม่มีเสรีภาพ (not free)

จากการสำรวจพบว่าฟิลิปปินส์ได้ประกาศใช้ หลักการมะนิลาว่าด้วยความรับผิดชอบของสื่อตัวกลาง” (Manila Principles on Intermediary Liability) โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงของรัฐและสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน อันมีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ย.2555 รัฐบาลฟิลิปปินส์เคยออกกฎหมายปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ (Cybercrime Prevention Act of 2012) แต่ถูกคัดค้านจากประชาชน เนื่องจากกฎหมายมีเนื้อหาลดทอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จนเป็นเหตุให้รัฐบาลออกแถลงการณ์ระงับการใช้กฎหมายดังกล่าว

สำหรับประเทศที่องค์กรฟรีดอมเฮาส์ประเมินว่ามีเสรีทางอินเทอร์เน็ตบางส่วนนั้น ถึงแม้ว่าจะให้โอกาสประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ยังมีมาตรการจัดการและควบคุมการแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มงวด อาทิ ในกัมพูชา กลุ่มสันนิบาตกัมพูชาเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights) ระบุว่านักโทษการเมืองจำนวนมากถูกควบคุมตัว ในโทษฐานที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการก่ออาชญากรรมต่อต้านรัฐบาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 494 และมาตรา 495

ในมาเลเซีย มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย (Malaysian Communications and Multimedia Commission) โดยมีหน้าที่สอดส่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ภายใต้ กฎหมายการสื่อสารและมัลติมีเดีย พ.ศ.2541” และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น เช่นเดียวกัน อินโดนีเซีย ประกาศใช้ กฎหมายสารสนเทศและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Information and Electronic Transactions Law) เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะผู้ที่ออกมาเผยแพร่เนื้อหาสร้างความเกลียดชังและทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ

ในกรณีของสิงคโปร์ รัฐบาลมีมาตรการเคร่งครัดเพื่อควบคุมการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ เช่น การสั่งปิดเว็บไซต์เดอะเรียลสิงคโปร์ (the Real Singapore) ด้วย กฎหมายแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต พ.ศ.2556” เนื่องจากเว็บไซต์ดังกล่าวมุ่งนำเสนอบทความเชิงยุยงให้เกิดความรู้สึกต่อต้านต่างชาติบ่อยครั้ง

กรณีเมียนมา การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนยังมีอยู่อย่างจำกัดแค่ชนชั้นนำทางการปกครอง สื่อสารมวลชน นายทหาร และพระที่มีการศึกษาเสียเป็นส่วนมาก ขณะที่เวียดนาม ฟรีดอมเฮาส์ได้ระบุว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นในระบบออนไลน์มากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองออนไลน์จำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 258 โทษฐานใช้เสรีภาพในทางที่ผิด

เครือข่ายอินเทอร์เน็ตส่งผลให้ผู้คนสามารถสื่อสารระหว่างกันได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น นอกจากจะสามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันแล้ว พื้นที่ออนไลน์ยังเป็นเสมือนชุมชนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแสดงความเห็นที่แตกต่างหลากหลายไปตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในหลายประเทศได้ออกมาแสดงความกังวลว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทั่งหน่วยงานของรัฐต้องใช้มาตรการควบคุมและติดตามการแสดงความเห็นซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิขึ้นพื้นฐานของประชาชนโดยตรง

ในส่วนภาคประชาสังคมและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนนั้นได้ออกมาสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานและเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับ หลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้หลักสิทธิมนุษยชนกับการสอดแนมการสื่อสาร” (International Principles on the Application of Human Rights to Communications Surveillance) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของรัฐและสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน โดยเริ่มทบทวนว่าการตัดสินใจเข้าไปสอดแนมการสื่อสารของรัฐเป็นการสอดแนมข้อมูลที่ได้รับการคุ้มครองของประชาชนหรือไม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจะต้องทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับ “ความมั่นคง” โดยมีการปรึกษาหารือร่วมกับประชาชนอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญต่อความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมในเรื่องดังกล่าว คือการขยายตัวของอาญากรรมข้ามชาติและความแปลกแยกทางสังคมอันเกิดขึ้นจากความเข้มข้นของกระแสโลกาภิวัตน์ที่เร่งรัดให้ ความมั่งคงแห่งรัฐ มีความหมายและความสำคัญเหนือ ความมั่นคงมนุษย์

 

โดย...

กุลระวี สุขีโมกข์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ฝ่าย 1 สกว.