“มุมมองตลาดกับสัญญาณบ่งชี้จาก Bond Yield”

“มุมมองตลาดกับสัญญาณบ่งชี้จาก Bond Yield”

“มุมมองตลาดกับสัญญาณบ่งชี้จาก Bond Yield”

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

หากพูดถึงประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ ณ ตอนนี้ คงหนีไม่พ้น เรื่องการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) ถ้าทุกท่านจำกันได้ ช่วงเดือนก.พ. 2018 ประเด็นดังกล่าว ได้เคยส่งผลให้ตลาดหุ้นหลักๆ ทั่วโลกปรับฐานลงจาก Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.95% หลังค่าจ้างแรงงานต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อ ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนปรับเพิ่มโอกาสของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในปีนี้มากกว่า 3 ครั้ง มากขึ้น

การปรับเพิ่มขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ ปลายเดือนเม.ย. 2018 โดยเฉพาะ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่พุ่งขึ้นแตะ 3.03% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี และ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 2 ปี ที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2007 หลังนักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) จากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ดีดตัวขึ้นมาก ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและมากกว่าที่คาด โดยความน่าจะเป็นที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวน 4 ครั้งในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 33% มาอยู่ที่ 48% อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นหลักๆ ทั่วโลก ปรับฐานลงแรงเหมือนดังเช่นที่เกิดในเดือนก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจาก เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่ง สะท้อนจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนใหญ่รายงานผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2018 ออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับความผันผวน (Volatility) ของ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ในช่วงที่ปรับเพิ่มขึ้นทะลุ 3% ในครั้งนี้ อยู่ที่ 4.31% ต่ำกว่า Volatility ที่เกิดขึ้นครั้งก่อนในเดือนก.พ. เกือบ 30%

แม้ว่า Bond Yield สหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้น แต่ความชันในแต่ละช่วงอายุ ต่างปรับเพิ่มขึ้นในระดับ (Pace) ที่แตกต่างกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา Bond Yield สหรัฐฯ ระยะสั้น ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าระยะยาว เนื่องจาก Bond Yield ระยะสั้น มักปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ขณะที่ Bond Yield ระยะยาว มีหลายปัจจัยที่เข้ามาเป็นตัวกำหนด เช่น มุมมองเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้นักลงทุนปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ การทยอยลดขนาดงบดุลของ Fed ด้วยการหยุดซื้อพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่หมดอายุลง (reinvest) รวมทั้ง การดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ก็จะส่งผลต่อปริมาณอุปทานของพันธบัตร เช่นกัน

ส่วนต่างระหว่าง Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี และ 2 ปี ได้เป็นสิ่งที่นักลงทุนกลับมาให้ความสนใจ เนื่องจากหากส่วนต่างดังกล่าวปรับลดลงจนติดลบ หรือที่เรียกว่า Invert Yield Curve มักเป็นสัญญาณบ่งชี้ (Indicator) ถึงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ดังนั้น นักลงทุนบางส่วนจึงกังวลว่า ส่วนต่างระหว่าง Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี และ 2 ปี ที่ปรับลดลงอยู่ที่ 43bps ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังที่อยู่ที่ 143bps จะเป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ภาวะ Recession หรือไม่ และจะส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างไร

สำหรับมุมมองต่อเรื่องดังกล่าว ดิฉันมีความเห็นว่า แม้ส่วนต่างระหว่าง Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี และ 2 ปีจะปรับลดลง แต่ส่วนต่างดังกล่าวไม่น่าจะปรับลดลงจนเกิดเป็น Invert Yield Curve โดยเศรษฐกิจโลกจะยังไม่เข้าสู่ภาวะ Recession ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจาก เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่ง โดย IMF คาดการณ์ GDP โลกในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัว 3.9%  และปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ในปีนี้ เป็น 2.9% จาก 2.7% ในประมาณการครั้งก่อน และตลาดหุ้นยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อไป จากผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน (Earning Growth) ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปีนี้ โดยจากสถิติในอดีตที่ผ่านมา พบว่า หลังเกิด Invert Yield Curve โดยเฉลี่ยแล้ว ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P500) มักจะปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุด (Peak) ในอีก 10 เดือน และเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ Recession ในอีก 13-15 เดือน

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่เข้าสู่ภาวะ Recession แต่ตลาดการเงินทั่วโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways ในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจาก ยังมีหลายปัจจัยที่อาจเข้ามาสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นการกีดกันการค้าของสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้าต่างๆ การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางหลักๆ ของโลก การลดสภาพคล่องออกจากระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ  (Fed) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึง Mid Term Election ของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนพ.ย. 2018