ดัชนี SET THSI Index สะท้อนการลงทุนอย่างยั่งยืน

ดัชนี SET THSI Index สะท้อนการลงทุนอย่างยั่งยืน

ดัชนี SET THSI Index สะท้อนการลงทุนอย่างยั่งยืน

การเลือกลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีนั้น ผู้ลงทุนมักจะให้ความสำคัญกับการพิจารณาผลกำไรและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีตัวเลขด้านการเงินที่ดี และมีศักยภาพในการเติบโตอาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวได้ ตัวอย่างเช่น บริษัท Enron ในประเทศสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจด้านการซื้อขายพลังงานและดูเหมือนจะมีผลการดำเนินงานที่กำไรอย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงนั้นผลการดำเนินการกลับขาดทุนเพียงแต่ใช้การตกแต่งทางบัญชีปกปิดไว้ จนในที่สุดบริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายไปในปี 2001 หรือบริษัท Volkswagen ที่ถูกตรวจพบการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้ผ่านการทดสอบการปล่อยก๊าซจากเครื่องยนต์ Diesel ในปี 2015 ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลงถึง 30% ภายในวันเดียว ตัวอย่างข้างต้นล้วนสะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจลงทุนโดยอาศัยการวิเคราะห์ตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจด้วย เช่น การกำกับดูแลกิจการที่ดี และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรนั้นๆ

ปัจจุบัน มีแนวทางการลงทุนแบบใหม่ที่ผู้ลงทุนระยะยาวหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น ที่เรียกกันว่าการลงทุนแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Investment ที่คัดเลือกหุ้น  พูดง่ายๆคือ นอกจากจะพิจารณาด้านทางการเงินแล้ว ยังคำนึงถึงการดำเนินงานของบริษัทอีก 3 ด้านควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท การจัดการด้านสังคม (Social) ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารบุคลากรของบริษัทย่างเป็นธรรม และผลักดันให้คู่ค้ามีการปฏิบัติกับแรงงานอย่างเหมาะสม และด้านการดำเนินธุรกิจที่มีบรรษัทภิบาล (Governance) ที่บริษัทมีนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตลอดจนมีการดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าการลงทุนแบบยั่งยืนนั้น ให้ความสำคัญทั้งความเก่งและความดีของบริษัทนั่นเอง 

แนวทางการลงทุนดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในต่างประเทศ โดยจากผลการสำรวจของ Financial Times พบว่าผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศขนาดใหญ่กลุ่ม Pension Fund, Sovereign Wealth Fund และ Foundation ที่มีเป้าหมายการลงทุนที่การสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในแบบ Sustainable Investment ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2022 ในด้านของผลตอบแทนนั้น ซึ่งในตลาดต่างประเทศนั้น มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั้งในรูปแบบกองทุนรวมและ ETF ที่หลากหลายให้สามารถเลือกลงทุนตามแนวทาง Sustainable Investment ได้ รวมไปถึงมีการพัฒนาดัชนีที่ใช้ปัจจัย ESG ในการคัดเลือกหุ้นที่จะเป็นองค์ประกอบของดัชนีขึ้นมากมาย เช่น MSCI ESG Index, Dow Jones Sustainability Index (DJSI), FTSE4Good Index เป็นต้น ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนสถาบันที่แสวงหาดัชนีเพื่อใช้อ้างอิงในการเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน  

สำหรับประเทศไทยนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการลงทุนแบบยั่งยื่น รวมถึงการส่งเสริมการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยได้สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนไทยเปิดเผยการดำเนินการด้าน ESG และเข้ารับการประเมินเพื่อให้บริษัทได้รับคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีการลงทุนแบบยั่งยืนในระดับสากลและเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ โดยในปี 2017 มีบริษัทไทยผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ดัชนี DJSI World จำนวน 6 บริษัท และอยู่ในดัชนี DJSI Emerging Markets จำนวน 17 บริษัท ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนบริษัทที่อยู่ในดัชนีสูงสุดในอาเซียน ทั้งในกลุ่มดัชนี DJSI World และกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้จัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment ที่เป็นการรวบรวมรายชื่อบริษัทที่มีความโดดเด่นการดำเนินงานด้าน ESG ด้วยการประเมินความยั่งยืนที่มีตัวชี้วัดด้าน ESG ทั้งสามมิติ โดยเปิดโอกาสให้บริษัททั้งใน SET และ mai เข้าร่วมการประเมินตามความสมัครใจ และได้เริ่มประกาศรายชื่อ THSI เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา โดยรายชื่อ THSI ปีล่าสุด (ปี 2017) มีทั้งหมด 65 บริษัท (อยู่ใน SET 58 บริษัท และ mai 7 บริษัท) มี Market Cap รวมกันประมาณ 9.5 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.19% ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดโดยรวมซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.85%

สำหรับการดำเนินการต่อเนื่องนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำดัชนี SET THSI Index ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากรายชื่อ THSI ด้วยการนำหุ้นที่อยู่ในรายชื่อ THSI มาผ่านการพิจารณาด้านสภาพคล่อง และขนาดของบริษัท เพื่อจัดทำดัชนีที่สามารถลงทุนได้จริง (Investable Index) และสามารถ Replicate ได้โดยสะดวก เพื่อให้ Asset Management สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทอื่นๆ และใช้เป็นตัวเทียบวัดการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนได้ โดยคาดหวังว่า การจัดทำดัชนี SET THSI Index จะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนของไทยก้าวไปสู่การดำเนินงานอย่างยั่งยืนในระดับสากลได้ อีกทั้งน่าจะส่งเสริมให้ผู้ลงทุนในประเทศรู้จักอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุนในหุ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศดัชนี SET THSI Index ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 นี้