10 ข้อเรียกร้องแรงงาน คสช.จัดให้?

10 ข้อเรียกร้องแรงงาน คสช.จัดให้?

1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันที่ระลึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานที่ยาวนาน และเป็นวันที่ลูกจ้างในประเทศไทย

รวมตัวกันแสดงพลังยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย

จุดเริ่มในการรวมพลังของแรงงานในประเทศไทย มีมาตั้งแต่ปี 2440 มาถึงวันนี้ก็ยาวนานถึง 121 ปี โดยพัฒนาการต่อสู้เรื่อยมา จนกระทั่งสามารถก่อตั้ง สหภาพแรงงาน เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ลูกจ้าง ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบตามมาตรฐานสากลได้ ในสมัย รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ยอมให้มี พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ครั้งแรกปี 2518

มาถึงวันนี้ ผ่านไป 43 ปี เรามีสหภาพแรงงานทั้งประเทศ 1,426 แห่ง เป็น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 47 แห่ง มีสมาชิก 1.7 แสนคน สหภาพแรงงานในกิจการเอกชน 1,379 แห่ง สมาชิก 4.4 แสนคน รวมกันเป็น 6.1 แสนคน แต่ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยนิด ถ้าเทียบกับลูกจ้างในระบบที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน

มาถึงปีนี้ นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ก็รับปากจะดูแลแรงงานตามข้อเรียกร้อง 10 ประการ แต่จะเป็นไปได้ทั้งหมดหรือไม่ อาจมีลุ้นไปถึงรัฐบาลหน้า

แต่ถ้าดูจากผลงานกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ก็ถือว่าได้ใจผู้ใช้แรงงานไปไม่น้อย เพราะในช่วงรัฐบาล คสช.เครือข่ายแรงงาน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกฯ ทั้งหมด 16 ข้อและทำได้สําเร็จ 10 ข้อ ยังเหลืออีก 6 ข้อ

เรื่องที่รัฐจัดให้ได้แก่ แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ 2541 ให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี ผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจสร้างระบบธรรมาภิบาลและยุติการแปรรูป ตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงแก่ลูกจ้าง ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้สถานประกอบการกิจการปฏิบัติตามพรบคุ้มครองแรงงานมาตรา 11/1

สนับสนุนงบประมาณศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย จัดให้มีระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า สนับสนุนงบฯมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้อง

ส่วนอีก 6 ข้อที่ต้องจี้กันต่อ ได้แก่ ให้รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ตราพระราชกฤษฎีกาจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบ เพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จัดตั้งกรมความปลอดภัยแรงงาน ปฏิรูปสํานักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ กำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับ ให้จัดตั้งในทุกสถานประกอบกิจการ

ใกล้ฤดูเลือกตั้ง ก็มีความหวังว่าข้อเรียกร้องของประชาชนอาจจะไม่ต้องรอนานถึงข้ามรัฐบาล

 

โดย... นิภาวรรณ