การวางแผนการเงินฉบับย่อ

การวางแผนการเงินฉบับย่อ

การวางแผนการเงินฉบับย่อ

หลายคนสับสนในการใช้เงินอย่างประหยัด กับการใช้เงินให้เหมาะสม "ประหยัดจนไม่ได้ใช้ หรือใช้ไปจนไม่มีเหลือ" หลายคนไม่กล้าใช้เงิน ทั้งที่ตัวเอง มีความสามารถในการใช้จ่าย ทำให้มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะมี หรือใช้จ่ายเกินตัวทำให้เป็นหนี้มหาศาล ทั้งหมดก็เป็นเพราะไม่เคยวางแผนการเงิน ทำให้ไม่รู้ถึง"คุณภาพชีวิตที่แท้จริงของตัวเอง" ว่าเราควรจะใช้จ่าย เก็บออม และลงทุน เป็นเงินจำนวนเท่าไหร่? ทำให้อัตราส่วนของเงินผิดรูปทรง ใช้จ่ายเกินตัว ออมเงินผิดที่ ทำให้เสียโอกาสในการลงทุน รวมถึงลงทุนระยะยาวมากไปจนทำให้คุณภาพชีวิตในปัจจุบันมีปัญหา หรือลงทุนสั้นไปทำให้ได้ดอกผลการลงทุนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สุดท้ายก็ไม่สามาถไปถึงเป้าหมายการเงินที่ตัวเราต้องการได้ อ่านแล้วเครียด มีวิธีแก้ไหม?

แน่นอนมีครับ

“ต้องวางแผนการเงินฉบับย่อให้กับตัวเอง”

ขั้นตอนที่1 จัดทำรายการสินทรัพย์ จดบันทึกสินทรัพย์ที่เรามีทั้งหมดโดยแยกเป็น 

1.1 สินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquid Assets) เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร หรือสินทรัพย์สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ในเวลาอันสั้น และมูลค่าไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก

1.2 สินทรัพย์เพื่อการลงทุน (Investment Assets) เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร หุ้น กองทุนรวม ตราสารอนุพันธ์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ LTF RMF และอื่นๆ โดยสินทรัพย์ในแต่ละประเภทจะตอบสนองการไปถึงเป้าหมายทางการเงินตามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น การลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะสั้นๆ และต้องใช้เงินนั้นเต็มจำนวนโดยที่ขาดทุนไม่ได้ เราอาจจะเลือกลงทุนในกองทุนตราสารเงิน หรือลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นความเสี่ยงน้อย หรือถ้าการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาวอาจจะลงทุนในตราสารทุนที่มีความเสี่ยงได้มากขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้นSET50 SET100 ที่มีแนวโน้มกิจการระยะยาวเติบโต ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ปัจจัย คือ 1.ความสามารถในการรับความเสี่ยง เช่น คนที่สามารถสร้างเงินลงทุนใหม่ขึ้นได้อาจจะลงทุนความเสี่ยงได้สูง เพราะถ้าการลงทุนผิดพลาดไปก็ยังสามารถดำรงคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมคนอายุน้อยที่มีเวลาในการหาเงินได้มากกว่าจึงสามารถลงทุนได้เสี่ยงกว่า 2.ความพอใจในการรับความเสี่ยง พูดง่ายๆว่าแม้ว่าคุณจะมีคุณสมบัติในการรับความเสี่ยงการลงทุนนั้นได้แต่ถ้าคุณลงทุนแล้วนอนไม่หลับ กินไม่เข้า คลายไม่ออก ผมว่าอย่าลงทุนกับสิ่งนั้นดีกว่าครับ

1.3 สินทรัพย์ใช้ส่วนตัว (Personal Possessions) คือ สินทรัพย์ที่มีไว้ในการใช้ชีวิต เช่นรถยนต์ บ้าน เครื่องประดับ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆที่มีค่า และของสะสมต่างๆ

ขั้นตอนที่2 จัดทำรายการรายรับรายจ่าย เพื่อให้รู้ต้นทุนในการใช้ชีวิตในคุณภาพชีวิตที่คุณต้องการ และอย่าลืมรายจ่ายที่จะเป็นการเติมเต็มชีวิต เช่น การไปท่องเที่ยว การซื้อของที่ตัวคุณชอบ แต่ทุกอย่างจะต้องBalance กับเป้าหมายชีวิต และรายรับของคุณ

ขั้นตอนที่3 จัดระเบียบสินทรัพย์ โยกย้ายอัตราส่วนสินทรัพย์ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป้าหมาย ระยะสั้น กลาง ยาว ของคุณ ทำให้ได้อัตราส่วนสินทรัพย์ที่เหมาะสม ตามเป้าหมายทางการเงินที่คุณต้องการ ในแต่ละช่วงเวลา

ขั้นตอนที่4 จัดระเบียบรายรับรายจ่าย ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ถ้ารายจ่ายบางตัวลดแล้วอาจจะมีผลกระทบกับคุณภาพชีวิต ให้ใช้เทคนิค ด้านการเงินมาช่วย เช่น ถ้าต้องการซื้อของหรือ สินค้าชิ้นนี้ เราจะสามารถ ซื้อถูกกว่า ราคาตลาด 10%-30% หรือมากกว่านั้นได้ไหม พูดง่ายๆคือ "ซื้อของแพงราคาถูก" (ซื้อของดีในราคาถูก ถ้าของดีนั้นแพง ก็ต้องซื้อให้ถูกกว่า)

ถ้าคิดว่าเรื่องการทำแผนทางการเงินนี้ยุ่งยาก น่าปวดหัว ก็ใช้วิธีที่ง่ายขึ้น โดยหาที่ปรึกษาเป็นนักวางแผนทางการเงิน หรือนักวางกลยุทธการเงิน และยกทุกความยุ่งยากให้ที่ปรึกษาเป็นคนช่วยทำในค่าใช้จ่ายที่เรารับได้ แค่นี้ชีวิตก็ง่ายแล้วครับ แล้วคุณจะสนุกกับการใช้เงินที่เหมาะสมกับคุณภาพชีวิตของคุณเองครับ