เมื่ออาลีบาบาเปิดประตูตลาดท่องเที่ยวไทย

เมื่ออาลีบาบาเปิดประตูตลาดท่องเที่ยวไทย

เวลานี้ข่าวใหญ่ในวงการท่องเที่ยว คงไม่พ้นความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับอาลีบาบาเพื่อขายบริการท่องเที่ยวไทย

ให้กับนักท่องเที่ยวจีนคุณภาพสูงให้ขยายสู่เมืองรอง ซึ่งที่จริงขณะนี้คนจีนก็ซื้อบริการการท่องเที่ยวไทยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ประเทศจีนอยู่แล้ว โดยเป็นการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มอาลีบาบา และกลุ่มเทนเซ็น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศึกตระกูลหม่า (เพราะผู้นำแซ่เดียวกัน) แพลตฟอร์มออนไลน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เสนอบริการครบวงจร ตั้งแต่บริการเช็คข้อมูล จอง จ่ายเงิน และหากต้องการท่องเที่ยวแต่ไม่มีเงินก็ให้กู้ได้ เที่ยวเสร็จซื้อของที่ระลึกก็มีบริการส่งของกลับประเทศจีน โดยไม่ต้องหอบหิ้วให้รุงรังกันอีกต่อไป เรียกได้ว่าครอบคลุมกิจกรรมตลอดห่วงโซ่ซัพพลายเลยทีเดียว

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือบริษัทของไทยไม่สามารถเข้าไปขายบริการท่องเที่ยวในแพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านี้ได้ นอกจากจะต้องจดทะเบียนธุรกิจในประเทศจีน ก็เห็นจะมีแต่บริษัทท่องเที่ยวใหญ่ๆ เท่านั้น การเข้ามาเปิดตัวของแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของจีนในประเทศไทย ถ้ามาทำให้ครบวงจรแบบที่อยู่ในประเทศจีนก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยทั่วไปจะได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดจีนโดยตรง ส่วนผลประโยชน์ของอาลีบาบาที่ได้จากการเข้ามาเมืองไทยครั้งนี้ก็คือ ก้าวล้ำหน้าคู่แข่งไปอีกก้าวหนึ่ง และมีโอกาสที่จะดึงนักท่องเที่ยวจีนจากแพลตฟอร์มอื่นมาสู่แพลตฟอร์มของอาลีบาบาในไทย

การเข้ามาของกลุ่มอาลีบาบา ยังมีข้อดีอื่นๆ อยู่ด้วยคือ หนึ่ง นักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัว ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวประเภทท่องเที่ยวอิสระ (FIT) ไม่ได้มาทัวร์ขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับ SME ไทยที่จะได้ประโยชน์หากมีการเตรียมตัวเองให้สามารถรับนักท่องเที่ยวจีนได้ ในเรื่องภาษาจีนและการบริการการท่องเที่ยวให้เหมาะกับความต้องการของนักท่องเที่ยวจีน 

สอง แต่เดิมการซื้อขายทัวร์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในประเทศจีน ชาวจีนนิยมใช้การเบิกจ่ายจากถุงเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศจีน จึงมีบริษัทจีนหัวใสมารับเป็นนายหน้าจัดการให้บริษัทในไทยที่ไม่สามารถขายตรงในระบบออนไลน์ที่จีน สามารถรับเงินจากนักท่องเที่ยวจีนได้โดยผ่านบริษัทนายหน้า ซึ่งจะจ่ายร้านค้าไทยจากบัญชีของตนในไทย แล้วค่อยไปหักลบจากถุงเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับบริษัทนายหน้าที่ประเทศจีน ฉะนั้น การชำระเงินที่เกิดขึ้นจึงไม่ต้องผ่านระบบภาษีและค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เพราะไม่มีการบันทึกผ่านระบบธนาคารพาณิชย์และการซื้อขายในในประเทศ ดังนั้น หากอาลีบาบาจะมาทำแพลตฟอร์มครบวงจรพร้อมทั้งการดำเนินกิจการในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีอาลีเพย์ (Alipay) เป็นตัวแทนจัดการด้านการชำระเงินก็จะทำให้การติดตามภาษีและการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศเป็นไปโดยถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ส่วนการเข้ามาของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่นี้จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้หรือไม่นั้น ผู้เขียนเชื่อว่าปัจจัยสำคัญเกิดจากข้อจำกัดฝ่ายไทยมากกว่าดีมานด์ของจีน เพราะในเวลานี้คนจีนรู้จักประเทศไทยและสามารถซื้อบริการท่องเที่ยวจากแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อยู่แล้ว ส่วนผู้ประกอบการไทยบางส่วนก็ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว แม้แต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองก็กลายเป็นสินค้าท่องเที่ยวในโฆษณาออนไลน์ของจีน โดยข้อจำกัดที่สำคัญ คือกำลังรองรับด้านจำนวนสายการบินที่สามารถบินตรงจากจีนเข้าไทยจากเมืองต่างๆ ถ้าเราสามารถเปิดสนามบินเมืองรองได้ เช่น อุดรธานี อุบลราชธานี ลำปาง นครศรีธรรมราช ก็จะมีนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น เพราะศักยภาพสนามบินเมืองใหญ่ๆ แทบจะเต็มที่แล้ว 

ปัญหาการท่องเที่ยวไทยในจีนขณะนี้ไม่ได้มีแค่เราไม่สามารถเข้าถึงตลาดนักท่องเที่ยวจีนได้โดยตรงเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ผู้เขียนเรียกว่า S2 (เอสกำลังสอง) คือ ปัญหาของ Scale x Speed อันได้แก่นักท่องเที่ยวจีนเข้ามามาก (Scale) ในอัตราเพิ่มที่สูง (Speed) หรือจำนวนมหาศาล ไหลทะลักเข้ามาในไทยอย่างรวดเร็ว ขณะที่ธุรกิจไทยไม่สามารถตั้งรับได้จะทำให้เกิดการลงทุนของจีนในประเทศไทย ในรูปแบบของห่วงโซ่พันธมิตรคือมาครบทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อมารองรับนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยทำให้ผลประโยชน์ของการท่องเที่ยวไม่ได้ตกอยู่ในมือของธุรกิจไทยมากเท่าที่ควร และยังมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่รวดเร็วมากอีกด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมส่วนใหญ่เป็นแบบกรุ๊ปทัวร์ แต่ขณะนี้กำลังเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวแบบอิสระมากขึ้น ถึงแม้จะซื้อทัวร์แบบ Day trip มากขึ้น แต่ก็ต้องการสาธารณูปโภคด้านขนส่งสาธารณะในประเทศมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องยืดหยุ่นมากขึ้น ต้องมีบุคลากรที่สามารถใช้ภาษาจีนโต้ตอบทางออนไลน์ มีการจัดการกับทัวร์กลุ่มเล็กและสร้างผลิตภัณฑ์และกิจการแปลกและแตกต่าง (Differentiated) จากผู้ประกอบการอื่น เช่น ไปหมู่บ้านชาวเขาหัดคั่วกาแฟ ฟังนิทานพื้นบ้าน ชมดาวบนฟ้า ที่ปราศจากแสงไฟของเมืองใหญ่ การจัดการท่องเที่ยวสำหรับผู้ประกอบการไทยต้องเปลี่ยนไปจากการให้ความสะดวกแต่อย่างเดียวเป็นการให้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากขึ้น

สุดท้ายคือปัญหาการประสานงานภาครัฐ เพราะแม้แต่เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าก็อาจเกิดผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวได้ เพราะนักท่องเที่ยวจีนเดี๋ยวนี้เดินซอกแซกไปทั่ว ปัญหาด่วนของไทยที่แท้จริง จึงเป็นเรื่องการจัดทัพกำลังรองรับตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในภาคเอกชนและในภาครัฐ การศึกษาเรื่องดัชนีศักยภาพของจังหวัดท่องเที่ยวของมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า ในเมืองท่องเที่ยวรองของไทย มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวน้อยมาก เช่น รถขนส่งสาธารณะที่ได้มาตรฐาน พังงา ระนอง และแม่ฮ่องสอนมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันน้อยมาก จำนวนธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตมี 1,850 ราย แต่สงขลามี 170 ราย นครศรีธรรมราช 17 ราย เลยมีแค่ 3 ราย โรงแรมที่พักเมืองรองส่วนใหญ่ก็เป็นแค่ 3 ดาวหรือต่ำกว่า ที่เรียกตัวเองว่าเป็น 4 ดาว แต่ราคาก็เป็นแค่ 3 ดาวเท่านั้น ขณะที่ภูเก็ตมีแบรนด์ของโรงแรม International chain ถึง 47 แบรนด์ แต่สงขลา อุบลราชธานี สตูล พัทลุง ไม่มีแม้แต่แบรนด์เดียว 

ดังนั้น ถึงแม้เราอยากรับนักท่องเที่ยวจีนคุณภาพสูงที่อยากอยู่โรงแรม 5 ดาว เอาเข้าจริง เราก็ไม่มีโรงแรม Luxury ขนาดนั้นในเมืองรองอยู่ดี ที่น่าหนักใจที่สุดเป็นการจัดการด้านสุขาภิบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยตรง แต่รายได้ของอปท. กลับขึ้นอยู่กับจำนวนหัวของประชากรในท้องถิ่น เพราะส่วนกลางไม่ได้รับรู้ถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา

ปัญหาเชิงนโยบายใหม่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็คือการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั่นเอง!