โครงการ EEC เชื่อมโยง BRI ได้ดั่งฝันหรือไม่? ***

โครงการ EEC เชื่อมโยง BRI ได้ดั่งฝันหรือไม่? ***

รัฐบาลไทยผลักดันโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก ที่เรียกว่า Eastern Economic Corridor : EEC ซึ่งเป็นแผนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจ

ภายใต้แนวคิดไทยแลนด์ 4.0 เพื่อหวังจะให้เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการขยายตัวเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ผ่านการทุ่มงบประมาณลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และหวังจะให้มีการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมยุคใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป

สำหรับพื้นที่ที่รัฐบาลไทยตัดสินใจเลือกเพื่อพัฒนาโครงการ EEC จะกระจุกอยู่ใน 3 จังหวัดทางภาคตะวันออก เนื่องจากมีความโดดเด่นในการดึงดูดการลงทุน และมีความพร้อมด้านการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ที่ดำเนินมานาน 30 กว่าปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ มหาอำนาจอย่างจีนได้ขยายบทบาทไปทั่วโลก ทั้งด้านการค้าการลงทุน ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เรียกว่า The Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีนที่มีการผลักดันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยผู้นำจีนใช้ BRI เป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายบทบาทและแสวงหาผลประโยชน์ของจีนโดยการเชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งได้พยายามสร้าง โมเดลใหม่ ผ่านข้อริเริ่ม BRI ในการบูรณาการจีนกับภูมิภาคต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง เช่น การเชื่อมโยงระบบรางผ่านเส้นทางรถไฟยาวนับหมื่นกิโลเมตรจากจีน ผ่านหลายประเทศไปจนถึงภูมิภาคยุโรป และการออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ อย่างก้าวกระโดด รัฐบาลไทยจึงคาดหวังและพยายามที่จะให้โครงการ EEC ได้เชื่อมโยงกับข้อริเริ่ม BRI ของจีน และดึงดูดการลงทุนจากภาคธุรกิจจีน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารรายงานวิจัยส่วนบุคคล หลักสูตรการบริหารจัดการความมั่นคงแห่งชาติ รุ่นที่ 10 ที่ดิฉันเข้าอบรมศึกษากับสถาบันการข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ หากผู้อ่านท่านใดสนใจผลการศึกษาวิเคราะห์ full paper ทั้งหมดส่งอีเมล์มาได้ที่ [email protected]

รายงานชิ้นนี้ของดิฉันได้วิเคราะห์ SWOT analysis โครงการ EEC ในด้านต่างๆ และวิเคราะห์โอกาสในการเชื่อมโยง EEC กับ BRI ของจีน สรุปดังนี้

1.การเชื่อมโยงด้านอุตสาหกรรมการผลิต โอกาสจากข้อริเริ่ม BRI ในการเชื่อมโยงกับโครงการ EEC ของไทย เพื่อการผลิตและยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องและเสริมกันและกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยุคใหม่ภายใต้นโยบาย Made in China 2025 ของจีน และอุตสาหกรรมใหม่ New S Curve ของไทยที่สอดคล้องและคล้ายคลึงกัน เช่น อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งมีศักยภาพในการเชื่อมโยงขยายเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานการผลิตระหว่างไทย-จีน และขยายส่งออกไปยังตลาดโลกต่อไป รวมทั้งการใช้ประโยชน์และเรียนรู้เทคโนโลยีนวัตกรรมจากจีน ซึ่งในขณะนี้ จีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านการคิดค้น AI และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต

2.การเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง ในการเชื่อมโยงด้านการขนส่งกับแนวเส้นทาง BRI ของจีน ไม่ได้มีเฉพาะทางทะเล แต่ควรจะเน้นด้านการขนส่งระบบราง เนื่องจากภายใต้ข้อริเริ่ม BRI จีนได้ผลักดันการขนส่งระบบรางตามแนวเส้นทางสายไหมไปจนถึงยุโรปได้สำเร็จแล้ว และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับโครงการ EEC โดยเฉพาะการใช้เส้นทางรถไฟเชื่อมโยงจีน-ยุโรป เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งสินค้าส่งออกของไทยไปยังประเทศในยุโรป เช่น ไทยสามารถขนส่งสินค้าทางรถไฟจากแหล่งผลิตในมาบตาพุด ภายใต้โครงการ EEC ผ่านไปทางชายแดน จ.หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟในลาว (กำลังก่อสร้าง) แล้วข้ามพรมแดนจีนไปใช้รถไฟในมณฑลยูนนาน (กำลังก่อสร้าง) และต่อไปยังมณฑลเสฉวน เพื่อขนส่งรถไฟออกชายแดนจีนที่ซินเจียง แล้วข้ามพรมแดนไปยังคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ และกระจายต่อไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน แล้วแต่จุดหมายปลายทาง ซึ่งช่วยประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางทะเล

ในส่วนท้ายของรายงาน ดิฉันได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล รวมทั้งบทวิเคราะห์ในเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงกับมหาอำนาจอย่างจีนและข้อพึงระวัง เช่น จุดอ่อนในแง่ขอบเขตและการจัดสรรโครงการภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ของจีน ที่ยังคงเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ขาดความชัดเจนในเรื่องวงเงินและวิธีการในการจัดสรรเงินให้แต่ละโครงการ โดยแต่ละประเทศที่ร่วมมือกับจีนจะต้องเจรจาความร่วมมือกับจีนเป็นโครงการๆ ไป สำหรับแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการต่างๆ ภายใต้ข้อริเริ่ม BRI แม้ว่าจะมีแหล่งทุนที่หลากหลาย เช่น กองทุนเส้นทางสายไหม ธนาคาร AIIB และธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน CDB เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้จะมีจีนเป็นผู้ชี้ขาดว่า จะจัดสรรเงินหรือจะร่วมมือช่วยเหลือในโครงการใด ข้อริเริ่ม BRI จึงมีจุดอ่อนเชิงกลไกการบริหารและต้องพึ่งพาการตัดสินใจของจีนแต่ฝ่ายเดียวเป็นสำคัญรวมทั้งการขาดความโปร่งใสและไม่มีธรรมาภิบาลที่ชัดเจนในการดำเนินการโครงการ ภายใต้ข้อริเริ่ม BRI เป็นต้น

ที่สำคัญผลประโยชน์ระหว่างไทย-จีนมีความหลากหลายมีทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และด้านความมั่นคง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยควรใช้ความระมัดระวังรอบคอบในการรับมือหรือบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีนอย่างรู้เท่าทัน โดยเฉพาะในการร่วมมือกับจีนภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ต้องตระหนักถึงผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ และยึดผลประโยชน์ร่วมกันเป็นสำคัญ​

 *** ชื่อเต็ม: 

โครงการ EEC ของไทยจะเชื่อมโยงกับ

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง BRI ของจีนได้ดั่งฝันหรือไม่?